วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชาในกลดน้อย

คติธรรมคำกลอนราชาในกลดน้อย

กลดคันหนึ่งนี้หรือคือปรางค์มาศ
มีเสื่อขาดเปรียบที่นอนอันอ่อนนุ่ม
มีมุ้งห้อยย้อยยานต่างม่านคลุม
มีบาตรอุ้มเฉกเช่นเป็นโรงครัว
มีจีวรแทนเครื่องทรงอลงกต
มีศีลพรตเป็นมงกุฏที่สวมหัว
มีขันติเป็นพระขรรค์มั่นกับตัว
ความดีชั่วคือราชการงานนานา
มีปัญญาเป็นอำมาตย์อันปราดเปรื่อง
มีสติเป็นเครื่องที่ปรึกษา
อาณาเขตโดยรอบขอบเขตหนึ่งวา
คือพาราของเราเฝ้าครอบครอง
สมาธิซิเป็นทรัพย์นับแสนโกฏิ
ความสันโดษเป็นเพชรนิลสิ้นทั้งผอง
อีกช้างม้าวัวควายทั้งนายกอง
ก็คือของที่ใส่ในย่ามมา
เสียงจิ้งหรีดคือดนตรีที่ขับกล่อม
อยู่พรั่งพร้อมข้างที่พระเคหาส์
มีความว่างเป็นราชินีศรีราชา
อันว่าองค์กษัตราคือตัวเรา
คงสุขจริงสิ่งใดไหนจะเปรียบ
แม้จะเทียบกับใครไม่อายเขา
ความสุขอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเรา
คงเป็นเจ้าพาราครานี้เอย...
จากหนังสือประสบการณ์ทางวิญญาณแห่งศิษย์พุทธะ
ของหลวงปู่พุทธอิสระ วัดธรรมอิสระอ้อน้อย

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคระาห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้

ธรรมโอวาท

คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ
ด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่” ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และ ละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้ว ได่กล่าวเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดย ยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า..

การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง......

นี้แล คือ ตำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
การไม่ทำบาป...ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ
สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไป จนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือ สั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และ คอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงโอวาทธรรม ให้ปรากฏไว้ เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสระประทุม (ปัจจุบัน คือ วัดประทุมวนาราม) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน อาจค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก มีดังนี้

นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจธฺนกฺขนฺธานิ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสุคต บรมศาสดาศากยะมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ และพระ อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น

-----------------------------------

พระอรหันต์ 60รูป

เมื่อ พระพุทธเจ้า สอนเวนัยสัตว์
บรรลุธรรม ได้พระอรหันต์ 60รูป
ก็ ได้ส่งสมณะทูตทั้งหมด รวมทั้งพระองค์ บอกทางอริยะ
โลกเถียงกันว่า
อัตตามี อมตะ(สัสสตทิฎฐิ)
สองทางต่างเป็นทาสอุปทานทุกข์
ทางสายกลางคือ
"อุปทานอัตตา นั่นแหละ คือตัวทุกข์"
แต่เป็นการยาก ที่จะสอนมนุษย์ที่
"อยู่ในปกครองของ อภิจินตนาการ(อภิสังขารมาร)
และเป็นทาส อารมณ์ร่วม(กิเลสมาร)"
ให้มายอมรับ "สมองด้าน หลักการ เหตุผล ของธรรมชาติ"
ไม่ใช่"หลักการเหตุผล ที่มนุษย์สมมุติและยึดติด"
จึงให้หลักการ เป็นสติแก่สมณะเหล่านั้นดังนี้
1.ไม่ สนทนาธรรมกับ
-ผู้ยืนค้ำหัว
-ผู้ถืออาวุธ
-ผู้เจรจา เชิงปรปักษ์
-ผู้มีกิจเร่งด่วน
-ผู้เจ็บป่วย กำลังเสวยทุกข์เวทนา
-กุมาร กุมารี ที่ยังไม่เดียงสา
-กระเทย สายเทื้อ แม่หม้าย สาวไวไฟ
2.การสนทนา แลกเปลี่ยน ธรรมะซึ่งกันและกัน
"หากไม่ได้มิตร ก็พึง ไม่ควรเพิ่มศัตรู
3.พึงจรไปรูปเดียว เพื่อให้โอกาส ผู้เป็นบัวเหนือน้ำ
มีโอกาส ผัสสะ รุ่งอรุณแห่งชีวิต เบิกบานในธรรม
แม้นเราเอง ก็จะไปยัง อรุเวลา เสนานิคม
-----------------------------------

พระนามของพระอสีติ หรือ 80 พระอรหันต์ มหาสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระนามของพระอสีติ หรือ 80 พระอรหันต์ มหาสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อสีติ แปลว่า 80 พระเถระผู้ใหญ่ 80 รูปในสมัยครั้งพุทธกาลเป็นเอตทัคะบางรูป
คือไม่ใช่ทั้งหมด ท่านที่เป็นเอตทัคคะ บำเพ็ญบารมีหนึ่งแสนกัป ส่วนภิกษุที่ไม่ใช่
เอตทัคคะ อาจจะไม่ถึงก็ได้ยังไม่พบหลักฐาน

01.พระอัญญาโกณฑัญญะ
02.พระวัปปเถระ
03.พระภัททิยเถระ
04.พระมหานามเถระ
05.พระมหาอัสสชิเถระ
06.พระยสเถระ
07.พระวิมลเถระ
08.พระสุพาหุเถระ
09.พระปุณณชิเถระ
10.พระควัมปติเถระ
-------------------------------
11.พระอุรุเวลกัสสปเถระ
12.พระนทีกัสสปเถระ
13.พระคยากัสสปเถระ
14.พระสารีบุตรเถระ
15.พระโมคคัลลานเถระ
16.พระมหากัสสปเถระ
17.พระมหากัจจายนเถระ
18.พระอชิตเถระ
19.พระติสสเมตเตยยเถระ
20.พระปุณณกเถระ
-------------------------------
21.พระเมตตคูเถระ
22.พระโธตกเถระ
23.พระอุปสีวเถระ
24.พระนันทกเถระ
25.พระเหมกเถระ
26.พระโตเทยยเถระ
27.พระกัปปเถระ
28.พระชตุกัณณีเถระ
29.พระภัทราวุธเถระ
30.พระอุทยเถระ
-------------------------------
31.พระโปสาลเถระ
32.พระโมฆราชเถระ
33.พระปิงคิยเถระ
34.พระราธเถระ
35.พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
36.พระกาฬุทายีเถระ
37.พระนันทเถระ
38.พระราหุลเถระ
39.พระอุบาลีเถระ
40.พระภัททิยเถระ
-------------------------------
41.พระอนุรุทธเถระ
42.พระอานนทเถระ
43.พระภคุเถระ
44.พระกิมพิลเถระ
45.พระโสณโกฬิวิสเถระ
46.พระรัฏฐปาลเถระ
47.พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
48.พระมหาปัณถกเถระ
49.พระจูฬปัณถกเถระ
50.พระโสณกุฏิกัณณเถระ
-------------------------------
51.พระลกุณฏกภัทิยเถระ
52.พระสุภูติเถระ
53.พระกังขาเรวตเถระ
54.พระวักกลิเถระ
55.พระโกณฑธานเถระ
56.พระวังคีสเถระ
57.พระปิลินทวัจฉเถระ_
58.พระกุมารกัสสปเถระ
59.พระมหาโกฏฐิตเถระ
60.พระโสภิตเถระ
-------------------------------
61.พระนันทกเถระ
62.พระมหากัปปินเถระ
63.พระสาคตเถระ
64.พระอุปเสนเถระ
65.พระขทิรวนิยเรวัตตเถระ
66.พระสีวลีเถระ
67.พระพาหิยทารุจิริยเถระ
68.พระพากุลเถระ
69.พระทัพพมัลลบุตรเถระ
70.พระอุทายีเถระ
-------------------------------
71.พระอุปวาณเถระ
72.พระเมฆิยเถระ
73.พระนาคิตเถระ
74.พระจุนทเถระ
75.พระยโสชเถระ
76.พระสภิยเถระ
77.พระเสลเถระ
78.พระมหาปรันตปเถระ
79.พระนาลกเถระ

--------------------------------------------------------------------------------


ประวัติพระสีวลีเถระ

พระสีวลีเถระ เป็นพระมหาเถระที่มีประวัติค่อนข้างแปลกไปกว่าพระมหาเถระองค์อื่น ๆ ท่านต้องอยู่ในครรภ์พระมารดาอยู่ถึง ๗ ปี กับอีก ๗ วัน ด้วยอำนาจบุรพกรรมตามมาส่งผล และพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ แม้พระมารดาคือ พระนางสุปฺปวาสา ผู้เป็นราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ.ก็ทรงเป็นเอตทัคคะผู้กว่าพระสาวิกาทั้งหลายผู้ถวายสิ่งของอันประณีต การที่พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะดังกล่าวก็เป็นไปตามความปรารถนาของท่านมาแต่ในอดีต

ความปรารถนาในอดีต
ในกัปที่แสน แต่กัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ในครั้งนั้น ท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ยินพระพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสาวกของพระองค์ชื่อสุทัสสนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีลาภมาก ดังนั้น ทรงปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้นิมนต์ พระชินสีห์พร้อมทั้งพระสาวก ให้เสวยและฉันถึง ๗ วัน ครั้น ถวายมหาทานแล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภในอนาคตกาล.พระปทุมุตตระบรมศาสดา จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในกัปที่แสนแต่กัปนี้ไป ท่านจะบังเกิดในนาม สีวลี ได้บวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าโคตมะ ซึ่งสมภพในวงศ์ของพระโอกกากราช ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

ต่อจากนั้น ท่านก็กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวไปกำเนิดในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้ถือปฏิสนธิในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลพระนครพันธุมดี ในสมัยนั้น ท่านเป็นคนโปรดปรานของสกุลหนึ่งในพระนคร และเป็นคนที่หมั่นขยันขวนขวายในกิจการงาน

สมัยหนึ่งหลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาสู่พระนครพันธุมดี ครั้งนั้น พระเจ้าพันธุมะซึ่งเป็นพุทธบิดา ได้ทรงเตรียมอาคันตุกทาน เพื่อภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงปรารถนาจะทำมหาทานแข่งกับชาวเมือง ในวันใดที่พระราชาเป็นผู้ถวายทาน เหล่ามหาชนก็จะสังเกตดู และในวันรุ่งขึ้นก็จะเตรียมทานให้ยิ่งกว่านั้น และในวันถัดไป พระราชาก็จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันของชาวเมือง ชาวเมืองเหล่านั้นทั้งหมดได้จัดเตรียมสิ่งของไว้ทุกสิ่ง โดยตั้งใจจะไม่ให้มีสิ่งใดที่ขาดแม้สักสิ่งเดียว จึงได้ตรวจดูทานที่ตนได้เตรียมไว้ก็ไม่เห็นน้ำผึ้งสด มีเพียงน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้ว ชนเหล่านั้นจึงให้คนถือเอาทรัพย์คนละ ๑ พันกหาปนะแล้วส่งไปเฝ้ายังประตูพระนครทั้ง ๔ เพื่อขอซื้อจากผู้ที่มาจากชนบทนอกพระนคร

ในวันนั้นเอง ท่านเดินทางเข้ายังพระนครด้วยปรารถนาจะเยี่ยมนายบ้าน ในระหว่างทางท่านเห็นรวงผึ้งที่ปราศจากตัวอ่อน ขนาดเท่างอนไถ จึงไล่ตัวผึ้งให้หนีไป แล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้ง ด้วยตั้งใจว่าจะนำไปให้แก่นายบ้าน ฝ่ายผู้ที่ชาวเมืองมอบเงินไปเพื่อหาซื้อน้ำผึ้ง พบท่านถือรวงผึ้งสดเข้ามาจึงขอซื้อในราคาหนึ่งกหาปนะ

ท่านเกิดความคิดว่า ธรรมดารวงผึ้งนี้ย่อมไม่ถึงค่าน้อยกว่าหนึ่งกหาปนะมาก แต่บุรุษนี้ให้ทรัพย์กหาปณะหนึ่ง เห็นจะมีเหตุเบื้องหลังอยู่ จึงตอบปฏิเสธไป บุรุษนั้นจึงขึ้นราคาให้เป็นสองกหาปนะ ท่านก็ยังปฏิเสธอีก บุรุษนั้นก็ขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ จนถึงพันกหาปนะ

ท่านได้พิจารณาเห็นเป็นเรื่องผิดปกติมากที่ขอซื้อรวงผึ้งสดด้วยราคาถึงพันกหาปนะ จึงได้สอบถามถึงเหตุผล บุรุษผู้นั้นจึงให้เหตุผลว่า พวกชาวพระนครได้ตระเตรียมมหาทาน เพื่อถวายพระวิปัสสีสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีสมณะ ๖ ล้าน ๘ แสนเป็นบริวาร ในมหาทานนั้นยัง ไม่มีน้ำผึ้งดิบอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงขอซื้อ ในราคาเช่นนั้น.

ท่านเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ จึงขอมีส่วนร่วมในมหาทานนั้น บุรุษนั้นไปบอกเนื้อความแก่ชาวเมือง. ชาวเมืองทราบในศรัทธาของเขาจึงอนุโมทนา ท่านจึงได้เอากหาปณะที่ตนเก็บไว้เพื่อเสบียงเดินทางจากบ้านไปซื้อเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ทำให้ป่น นำเอาน้ำส้มมาจากนมส้มแล้ว คั้นรังผึ้งลงในนั้น ปรุงด้วยจุณเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ใส่ลงในบัวตระเตรียมสิ่งนั้นเรียบร้อยแล้ว ถือไปนั่งในที่ไม่ไกลพระทศพล เมื่อมหาชนเป็นอันมากนำเอาสักการะไป เขามองดูวาระที่จะถึงแก่ตนในลำดับ รู้ช่องทางแล้วจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักการะอันยากไร้นี้เป็นของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ข้าพระองค์ รับสักการะนี้เถิด พระศาสดาทรงอนุเคราะห์เขา ทรงรับสักการะนั้นด้วยบาตรศิลา อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ได้ทรงอธิษฐานให้ไทยธรรมที่ถวายเพียงพอแก่ภิกษุ ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.น้ำผึ้งนั้นก็มีเพียงพอแก่พระสาวกทั้งสิ้น

ครั้นแล้วท่านถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้กระทำภัตกิจ เสร็จแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ด้วยผลแห่งกรรมนี้ ขอข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความเป็นผู้มีลาภ ในภพที่เกิดแล้ว ๆ ดังนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกุลบุตร ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จอย่างนั้น ดังนี้แล้ว ทรงกระทำภัตตานุโมทนาแก่เขาและชาวเมืองแล้วเสด็จหลีกไป.

บุรพกรรมที่นำไปสู่อเวจีและต้องอยู่ในครรภ์พระมารดา ๗ ปี ๗ วัน
เมื่อท่านได้สิ้นอายุในสมัยนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่สิ้นกาลนาน ต่อมาในสมัยหนึ่งท่านได้จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ากาสี (อรรถกถาบางแห่งว่า พระเจ้าพรหมทัต) ผู้ครองกรุงพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้ากาสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์. ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ.

พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า จงอย่ามีการต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมด ไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปี.แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง.

ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้. พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ.

ท่านได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง

เพราะผลกรรมที่ล้อมพระนครไว้ถึง ๗ ปีในครั้งนั้น บัดนี้พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ วัน. แต่เพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง๗ วัน. ส่วนในอรรถกถาชาดกท่านกล่าวว่า เพราะผลกรรมที่ล้อมกรุงยึดไว้ถึง ๗ วัน. พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภีถึง ๗ ปีแล้วถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน. ก็พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาที่บาทมูลของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี. ฝ่ายพระนางสุปปวาสา อุ้มครรภ์อยู่ถึง๗ ปี หลงครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน เพราะที่ส่งสาสน์ไปว่า พ่อจงล้อมพระนครยึดไว้. พระมารดาและบุตรเหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เช่นนี้อันสมควรแก่กรรมของตน ด้วยประการฉะนี้.

กำเนิดในพุทธกาล
ครั้นพ้นจากนรกอเวจีแล้ว ก็เที่ยวเกิดไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ จึงได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของ พระนางสุปปวาสา ราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กษัตริย์พระนครโกลิยะ ซึ่งทรงอภิเษกกับเจ้าศากยวงศ์พระองค์หนึ่ง พระนางนั้นพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต และได้ทรงปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบันปัตติผล

ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี.นับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสา วันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ครั้งนั้น คนทั้งหลายด้วยความปรารถนาจะลองบุญนั้น จึงให้นางเอามือจับกระเช้าพืช.พืชแต่ละเมล็ด ผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้นางเอามือจับประตูยุ้ง ด้วยบุญของราชธิดาเมื่อมีคนมารับของไป ของที่พร่องไปนั้นก็กลับเต็มเหมือนเดิม เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า บุญของราชธิดา แล้วให้ของแก่ใคร ๆ จากภาชนภัตรที่เต็มบริบูรณ์ ภัตรย่อมไม่สิ้นไป จนกว่าจะยกของพ้นจากที่ตั้ง

ด้วยผลกรรมของพระนาง ที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปี.ก็ยังไม่มีพระประสูติกาล

ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนาง กับ พระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน

พระนางปรารภกับพระสวามีปรารถนาจะถวายทานก่อนที่จะตาย จึงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อไปกราบทูลเรื่องนี้ แล้วนิมนต์พระบรมศาสดา และถ้าพระบรมศาสดาตรัสคำใด ขอให้ตั้งใจจดจำคำนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกพระนาง พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมี ความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระราชธิดา พระราชธิดาตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพล ตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้นและได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารก ได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”

พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน
ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวง เพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระเจ้านั้น พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระเจ้าว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี

พระเถระได้กล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลีตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช

พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน 5 กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะโกนปอยที่ที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด

ส่วนอาจารย์บางพวก กล่าวถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระนี้ไว้ดังนี้ว่า เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ให้โอวาทโดยนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสีวลีกุมารกล่าวว่า กระผมจักรู้กิจกรรมที่กระผมสามารถจักกระทำได้ (ด้วยตนเอง) ดังนี้ แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นกุฏิหลังหนึ่งว่าง (สงบสงัด) จึงเข้าไปสู่กุฏินั้นในวันนั้นแหละ ระลึกถึงทุกข์ที่ตนเสวยแล้วในท้องมารดาตลอด ๗ ปี แล้วพิจารณาทุกข์นั้น ในอดีตและอนาคต โดยทำนองนั้นแหละอยู่ ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏว่า เป็นเสมือนไฟติดทั่วแล้ว สีวลีสามเณรหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถี เพราะญาณถึงความแก่รอบ ทำอาสวะแม้ทั้งปวงให้สิ้นไป ตามลำดับมรรค บรรลุพระอรหัตแล้ว ในขณะนั้นเอง ส่วนพระเถระก็เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้อภิญญา ๖

พระสีวลีทดลองบุญ
ในเวลาต่อมา พระบรมศาสดาได้เสด็จไปยังพระนาครสาวัตถี พระสีวลีเถระถวายอภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงมอบภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์ พระศาสดาตรัสสั่งว่า จงรับไปเถิด สีวลี.ท่านพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางบ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ เดินทางผ่านดง เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไทร ที่ท่านเห็นเป็นครั้งแรก ได้ถวายทานตลอด ๗ วัน เทวดาทั้งหลายได้ถวายทานทุก ๆ ๗ วัน ในสถานที่ทั่ว ๆ ไป ที่ท่านเห็นต่างกรรม ต่างวาระ กันดังนี้ คือ

ท่านเห็นต้นไทรเป็นครั้งแรก เห็นภูเขาชื่อว่าปัณฑวะเป็นครั้งที่ ๒ เห็นแม่น้ำอจิรวดี เป็นครั้งที่ ๓ เห็นแม่น้ำวรสาครเป็นครั้งที่ ๔ เห็นภูเขาหิมวันต์เป็นครั้งที่ ๕ ถึงป่าฉัททันต์ เป็นครั้งที่ ๖ ถึงภูเขาคันธมาทน์เป็นครั้งที่ ๗ และพบพระเรวตะ เป็นครั้งที่ ๘.

ประชาชนทั้งหลาย ได้ถวายทานในที่ทุกแห่งตลอด ๗ วันเท่านั้น.ก็ในบรรดา ๗ วัน นาคทัตตเทวราช ที่ภูเขาคันธมาทน์ ได้ถวายบิณฑบาตชนิดน้ำนม (ขีรบิณฑบาต) สลับวันกับ ถวายบิณฑบาตชนิดเนยใส (สัปปิบิณฑบาต) วันเว้นวัน ลำดับนั้นภิกษุสงฆ์จึงถามท่านเทวราช ว่า ของที่ท่านนำมาถวายนั้นเกิดขึ้นได้อย่าไร ในเมื่อ แม่โคนมที่เขารีดนมถวายแด่เทวราชนี้ก็มิได้ปรากฏ การบีบทำน้ำนมส้มก็มิได้ปรากฏ .เนาคทัตตเทวราชตอบว่า นี้เป็นอานิสงส์แห่งการถวายสลากภัตรน้ำนมในกาลแห่งพระกัสสปทศพล.

ในกาลต่อมา พระศาสดาทรง เอาเหตุแห่งการที่พระขทิรวนิยเถระจัดการต้อนรับ ให้เป็นอัตถุปบัติ (เหตุเกิดแห่งเรื่อง) ในการที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ ในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ ในเรื่องนี้ มีเหตุเกิดขึ้นอย่างนี้

เหตุเกิดแห่งเรื่องที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์
ในสมัยหนึ่ง พระขทิรวนิยเรวตเถระ ซึ่งเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ได้หนีการแต่งงานที่บิดามารดาจัดการให้ มาขอบวชในสำนักพระภิกษุ ซึ่งมีภิกษุอยู่ประมาณ ๓๐ รูป เหล่าพระภิกษุสอบถามดู ทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ที่ท่านได้เคยแจ้งไว้ก่อนว่าถ้าน้องชายมาขอบวชก็อนุญาตให้บวชได้ จึงได้ทำการบวชให้แล้วส่งข่าวมายังท่านพระสารีบุตร

ครั้งนั้น เมื่อพระสารีบุตรทราบข่าวดังนั้น จึงกราบทูลพระศาสดาเพื่อขอไปเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระเรวตะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา จึงทรงห้ามพระสารีบุตรถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก ทรงทราบว่า พระเรวตะบรรลุพระอรหัตแล้วจึงทรงอนุญาตและตรัสว่าจะทรงไปด้วยพร้อมเหล่าพระสาวกอื่น

ดังนั้น พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร ก็ได้เสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่าจะไปเยี่ยมพระเรวตะ.ครั้นเดินทางมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนทาง ๒ แพร่ง

พระอานนเถระกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตรงนี้มีหนทาง ๒แพร่ง ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์หนทางไหน เป็นหนทางตรง

พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหนทางตรงมีระยะประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เป็นหนทางที่มีอมนุษย์ ส่วนหนทางอ้อมมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย มีภิกษาดีหาง่าย.

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สีวลีได้มาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ

พระอานนท์กราบทูลว่า ใช่ พระสีวลีมาแล้วพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรงนั้นแหละ เราจักได้ทดลองบุญของพระสีวลี.

พระศาสดามีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่เส้นทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อจะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ.

จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง หมู่เทวดาได้เนรมิตพระนครในที่ทุกๆ โยชน์ ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับและที่อยู่แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

พวกเทวบุตร ได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น ไปเที่ยวถามอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน ดังนี้แล้ว จึงไปหาพระเถระ พระเถระจึงให้นำเอาสักการะและสัมมมานะเหล่านั้นไปถวายพระศาสดา พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์

ฝ่ายพระเรวตเถระทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิต พระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ๕๐๐ พระศาสดาประทับอยู่ใน สำนักของเรวตะเถระนั้นสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล แม้ประทับอยู่ ในที่นั้น ก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง แม้พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไป เสวยบุญของพระสีวลีเถระ ตลอดการประมาณเดือนหนึ่งนั่นแลอีก เสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม ลำดับ

ในกาลต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าแล้ว ทรงสถาปนาพระเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ.



เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์
ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ ดังที่ปรากฏในชาดก คือ

เกิดเป็นราชกุมารผู้ล้อมพระนครแล้วสืบราชสมบัติ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดา ใน อสาตรูปชาดก

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๑)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ ๑
สมัยของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

กระทำมหาทานพระปทุมุตตระพุทธเจ้ากับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์

ได้ยินว่า ในอดีตกาล ปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม พระปทุมุตตระ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้

พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ

อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า?

พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์

อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร

พระศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา.

ในวันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา.

พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร

ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อวันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า

ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน

พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก

อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้

ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ

เวเทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนาความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.

เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง ด้วยผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามหากัสสปเถระ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่าง ๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์.

เอกสาฏกพราหมณ์

นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี อุบาสกนั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.อาศัยอยู่กับนางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า

แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน

นางพราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด

แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืนเดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สามในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม (เราชนะแล้ว ๆ ๆ).

เวลานั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์

ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า ถ้าเรามิได้กระทำอะไรพระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรมศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย

พระราชา ตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ พราหมณ์จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา

ครั้นวันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์ พระทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง ๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์



เกิดในระหว่างกาลของพระโกนาคมน์พุทธเจ้า และพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า

จุติจากสวรรค์กลับมาเกิดในเรือนของกฏุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมน์ และพระกัสสปทศพลในกัปนี้ ครั้นเจริญวัยขึ้นก็แต่งงานมีเหย้าเรือน อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเที่ยวพักผ่อนไปในป่า.ก็พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำจีวรกรรม (คือการ เย็บจีวร) อยู่ที่ริมแม่น้ำ แต่ผ้าอนุวาต (ผ้าแผ่นบาง ๆ ที่ทาบไป ตามชายสบงจีวรและสังฆาฎิ) มีไม่พอจึงทรงเริ่มจะพับเก็บ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า เพราะอะไรจึงจะพับเก็บเสียเล่า เจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ผ้าอนุวาตไม่พอ เขากล่าวว่า โปรดเอาผ้าสาฏกนี้ทำเถิดเจ้าข้า เขาถวายผ้าสาฏกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมใด ๆ ขอจงอย่าได้มี ในที่ที่ข้าพเจ้าได้เกิดเถิด

ต่อมาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ยังเรือนของเขา ในตอนนั้น ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวพาดพิงถึงพี่สะใภ้ว่า ขอให้เราจงห่างไกลหญิงพาลเช่นนี้ร้อยโยชน์ ภรรยาของเขาที่กำลังยืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินเข้าจึงคิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางคนนี้ถวาย จึงจับบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเทบิณฑบาตทิ้งแล้วเอาเปือกตมมาใส่จนเต็ม น้องสาวเขาเห็นพี่สะไภ้ทำเช่นนั้นจึงกล่าวว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าจงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเช่นนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ นั้นเป็นการไม่สมควรเลย

ภรรยาของเขาครั้นได้ฟังก็เกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตรแล้วชะโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรลงในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ.

ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
---------------------------------------------------------------------------------

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๒)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๒)
เกิดในสมัยพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า

ผัวเมียแม้ทั้งสองนั้นเมื่อครบชั่วอายุขัยแล้ว ตายลงก็ไปเกิดบนสวรรค์ จุติจากสวรรค์นั้นอีกครั้ง อุบาสกเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี ในครั้งพระกัสสปทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่ายภรรยาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเหมือนกัน เมื่อเขาเจริญวัย พวกญาติก็นำธิดาของเศรษฐีมายังเรือนบุตรเศรษฐีหมายจะตกแต่งเป็นภรรยาแก่บุตรเศรษฐี ด้วยอานุภาพของกรรมซึ่งได้กระทำไว้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติก่อน พอนางถูกส่งตัวเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระเกิดกลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่เขาเปิดไว้ ตั้งแต่ย่างเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารถามว่า กลิ่นเหม็นนี้เป็นของใคร ครั้นได้ฟังว่าเป็นกลิ่นของลูกสาวเศรษฐี จึงให้นำส่งนางกลับไปเรือนตระกูล ธิดาเศรษฐีถูกส่งกลับไปกลับมาในทำนองนี้ถึง ๗ ครั้ง

ครั้นเมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนเริ่มก่อพระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทอง ทั้งหนาทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เมื่อเขากำลังสร้างพระเจดีย์กันอยู่ ธิดาเศรษฐีคนนั้นคิดว่า เราต้องถูกส่งกลับถึง ๗ ครั้งแล้ว ชีวิตของเราจะมีประโยชน์อะไร จึงให้ยุบสิ่งของเครื่องประดับตัว แล้วนำไปทำอิฐทอง ยาวศอก กว้างคืบ สูง ๔ นิ้ว และถือก้อนหรดาลและมโนสิลา เก็บเอาดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่ที่สร้างพระเจดีย์ ขณะนั้นก้อนอิฐแถวหนึ่งที่กำลังก่อมาต่อกันนั้นเกิดขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางจึงพูดกับช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ลงตรงนี้เถิด นายช่างกล่าวว่า นางผู้เจริญ ท่านมาได้เวลาพอดี ขอท่านจงวางเองเถิด นางจึงขึ้นไปเอาน้ำมันผสมกับหรดาลและมโนสิลา วางอิฐติดอยู่ได้ด้วยเครื่องยึดนั้น แล้วบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบนอิฐทองนั้น นางยกมือไหว้แล้วตั้งความปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด ขอจงมีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก แล้วไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์แล้วกลับไป

ครั้นแล้วในขณะนั้นเอง เศรษฐีบุตรก็เกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่เขานำมาที่เรือนครั้งแรก ในพระนครเวลานั้นก็มีงานนักขัตฤกษ์เสียงกึกก้อง เขาจึงพูดกับคนรับใช้ว่า คราวนั้น เจ้านำธิดาเศรษฐีมายังเรือนนี้ นางนั้นอยู่ที่ไหน คนรับใช้กล่าวว่าอยู่ที่เรือนตระกูลของนางขอรับ นายท่าน เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงพามา เราจักเล่นนักขัตฤกษ์กับนาง พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงไปยังเรือนตระกูลของนาง ไปไหว้นางแล้วยืนอยู่ นางจึงถามว่า ท่านทั้งหลายมาทำไมกัน พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงบอกเรื่องราวที่มานั้น

นางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาพระเจดีย์เสียแล้ว เราไม่มีเครื่องอาภรณ์ คนรับใช้เหล่านั้นจึงไปบอกแก่บุตรเศรษฐี ๆ จึงกล่าวว่า จงนำนางมาเถิด เราจะให้เครื่องประดับนั้นแก่นาง พวกคนรับใช้จึงไปนำนางมา กลิ่นจันทน์และกลิ่นอุบลขาบฟุ้งไปทั่วเรือน พร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน บุตรเศรษฐีจึงถามนางว่า ครั้งแรกมีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากตัวเธอ แต่บัดนี้ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเธอ นี่อะไรกัน ธิดาเศรษฐีจึงเล่ากรรมที่ตนกระทำตั้งแต่ต้น บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นนิยยานิกธรรมหนอ จึงเอาเครื่องปกคลุมที่ทำด้วยผ้ากัมพล ยาวประมาณโยชน์หนึ่งหุ้มพระเจดีย์ทองเป็นพุทธบูชา แล้วเอาดอกประทุมทองขนาดใหญ่เท่าล้อรถประดับที่พระเจดีย์ทองนั้น ดอกประทุมทองที่แขวนห้อยไว้มีขนาด ๑๒ ศอก บุตรเศรษฐีนั้นครั้นอยู่จนสิ้นอายุในมนุษยโลกแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ กำเนิดในตระกูลอำมาตย์

จุติจากสวรรค์นั้น บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ซึ่งพำนักอยู่ในที่ห่างจากกรุงพาราณสีประมาณโยชน์หนึ่ง ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีจุติจากเทวโลกเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ในราชตระกูล.

เมื่อคนทั้งสองนั้นเจริญวัย ในหมู่บ้านที่กุมารอยู่มีงานนักขัตฤกษ์ กุมารนั้นต้องการจะไปเที่ยวงานกล่าวกับมารดาว่า แม่จ๋า แม่จงให้ผ้าสาฎกฉัน ฉันจะห่มไปเล่นนักขัตฤกษ์ มารดาได้นำผ้าที่ใช้แล้วมาให้เขา เขาปฏิเสธว่า ผ้านี้หยาบไปจ้ะแม่ นางก็นำผ้าผืนอื่นมาให้ แต่ไม่ว่าจะนำผ้าผืนใดมา เขาก็ปฏิเสธว่าผ้านั้นหยาบไป มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า ลูก เราเกิดในตระกูลเช่นนี้ พวกเราไม่มีบุญที่จะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านี้หรอก เขากล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าอย่างนั้น ฉันจะไปยังที่ที่จะได้ผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย แม่ปรารถนาให้เจ้าได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีวันนี้ทีเดียวน่ะ เขาไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า ฉันไปละแม่ มารดาว่า ไปเถอะลูก นัยว่ามารดาของเขามีความคิดว่า มันจะไปไหนเสีย คงจะนั่งที่นี่ ที่นั่นอยู่ในเรือนหลังนี้แหละ

กุมารนั้นก็ออกไปตามเหตุแห่งกรรมที่กำหนดไว้ จนถึงกรุงพาราณสี แล้วเข้าไปนอนคลุมศีรษะอยู่บนแผ่นมงคลศิลาอาสน์ ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี ในวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้วเป็นวันที่ ๗ เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายเมื่อทำการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ก็นั่งปรึกษากันอยู่ที่พระลานหลวง ปรารภว่าว่า พระราชามีแต่พระธิดา ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติไม่มีพระราชาปกครองเป็นเรื่องไม่สมควร ใครสมควรจะได้เป็นพระราชา เหล่าอำมาตย์ต่างก็ออกความเห็นว่า ท่านโน้นควรเป็น ท่านนี้ควรเป็น ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรเลือกมาก เอาเถอะ พวกเราจะบวงสรวงเทวดาแล้วเสี่ยงราชรถไปเพื่อหาผู้ที่สมควรจะครองราชย์ อำมาตย์เหล่านั้นจึงจัดแจงเทียมม้า ๔ ตัว แล้วตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง กับเศวตรฉัตรไว้บนรถแล้วปล่อยราชรถนั้นไป แล้วให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง ม้านำราชรถออกทางประตูด้านทิศปราจีน บ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถบ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน เพราะม้ามีความคุ้นเคยกับอุทยาน พวกท่านจงให้กลับมา ปุโรหิตกล่าวว่า อย่าให้กลับ ม้านำราชรถไปยังแท่นที่กุมารนอนอยู่ กระทำประทักษิณแก่กุมารแล้วจึงได้หยุดราวกับเตรียมพร้อมที่จะให้ขึ้น ปุโรหิตจึงเดินเข้าไปเลิกชายผ้าห่มด้านเท้าของกุมารที่นอนหลับอยู่เพื่อตรวจดูพื้นเท้าของกุมาร ครั้นตรวจดูแล้วจึงกล่าวว่า ไม่เพียงแค่ชมพูทวีปนี้ทวีปเดียว แต่ท่านผู้นี้สมควรได้ครองราชย์ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปสองพันเป็นบริวาร แล้วสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง

อำมาตย์ถวายราชสมบัติ

เมื่อกุมารนั้นได้ยินเสียงประโคมดนตรีจึงตื่นขึ้น แล้วเปิดผ้าที่คลุมหน้าขึ้นมองดูเหล่าอำมาตย์ที่มาห้อมล้อมอยู่แล้วพูดว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านมาด้วยกิจกการอะไรกัน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหล่าข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติแก่พระองค์ กุมารถามขึ้นว่า แล้วพระราชาของพวกท่านไปไหนเสียเล่า ? อำมาตย์ตอบว่า ได้เสด็จทิวงคตเสียเมื่อ ๗ วันที่แล้ว กุมารถามต่อไปว่า พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของท่านไม่มีหรือ ? อำมาตย์ ข้าแต่สมมติเทพ พระราชธิดามี พระราชโอรสไม่มี กุมารรับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจักครองราชย์ เหล่าอำมาตย์ได้ยินรับสั่งเช่นนั้น จึงสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกในขณะนั้นทันที แล้วประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างนำมายังพระราชอุทยานทำการอภิเษกกับกุมาร.

เมื่อพระกุมารทำการอภิเษกแล้ว ประชาชนนำผ้ามีราคาแสนหนึ่งมาถวาย พระกุมารกล่าวว่า นี้อะไรท่าน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ผ้านุ่งพระเจ้าข้า, พระกุมาร ผ้านี้เนื้อหยาบไป มีผ้าอื่นที่เนื้อละเอียดกว่านี้หรือไม่ ? อำมาตย์ข้าแต่สมมติเทพ ในบรรดาผ้าที่มนุษย์ทั้งหลายใช้สอย ผ้าที่เนื้อละเอียดกว่านี้ไม่มี พระเจ้าข้า พระกุมารกล่าวว่า พระราชาของพวกท่านทรงผ้านุ่งเช่นนี้หรือ ? อำมาตย์ พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ พระกุมาร พระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ พวกท่านจงนำพระเต้าทองมา เราจะทำให้ได้ผ้า อำมาตย์เหล่านั้นนำพระเต้าทองมาถวาย พระกุมารนั้นลุกขึ้นล้างพระหัตถ์ บ้วนพระโอฐ เอาพระหัตถ์วักน้ำสาดไปทางทิศตะวันออก ในขณะนั้นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ก็ชำแรกแผ่นดินทึบผุดขึ้นมา ๘ ต้น ทรงวักน้ำสาดไปอีกทั่วทิศ ๓ ทิศอย่างนี้คือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นในทิศทั้ง ๔ ทิศละ ๘ ต้น รวมเป็น ๓๒ ต้น พระกุมารนั้นทรงปรารถนาผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์ ครั้นได้แล้วจึงทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ดังนี้แล้วให้ยกฉัตรขึ้น ทรงประดับตกแต่งพระองค์ ทรงขึ้นช้างตัวประเสริฐเข้าพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ.

ครั้งกาลเวลาผ่านไป วันหนึ่งพระเทวีเห็นมหาสมบัติของพระราชาแล้ว ทรงปรารภแก่พระสวามีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในอดีตกาลพระองค์ได้ทรงศรัทธาต่อพระพุทธทั้งหลาย ได้ทรงกระทำกรรมดีไว้ในอดีต ในชาตินี้จึงทรงได้มหาสมบัติเช่นนี้ ในชาติปัจจุบันนี้ ยังไม่ทรงกระทำกุศลที่จะเป็นปัจจัยแก่อนาคต พระราชาตรัสว่า เราจักทำกุศลแก่ใคร เรายังไม่เห็นผู้มีศีล พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายดอก พระองค์โปรดทรงตระเตรียมทานไว้เท่านั้น หม่อมฉันจะอาราธนาพระอรหันต์ในวันรุ่งขึ้น

พระราชารับสั่งให้ตระเตรียมทานไว้ที่ประตูด้านทิศปราจีน พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถศีลแต่ตรู่ ทรงบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกหมอบลงบนปราสาทชั้นบนแล้วกล่าวว่า ถ้าพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ พรุ่งนี้ขอนิมนต์มารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ปรากฏว่าในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎ พระนางก็ได้ให้แจกจ่ายสักการะที่เตรียมไว้นั้นแก่คนกำพร้า และยาจก ในวันรุ่งขึ้นทรงตระเตรียมทานไว้ทางประตูทิศใต้แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้น ก็ไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎในทิศนั้น ในวันรุ่งขึ้นทางประตูทิศตะวันตกก็เช่นเดียวกัน

ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า

ในวันที่ทรงตระเตรียมไว้ทางประตูทิศเหนือ พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพี่ชายของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นโอรสของพระนางปทุมวดี อยู่ในป่าหิมพานต์ เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องชายซึ่งถูกพระเทวีนิมนต์อย่างนั้นมาว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระเจ้านันทราชนิมนต์ท่านทั้งหลาย ท่านจงรับนิมนต์ของท้าวเธอเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นเมื่อล้างหน้าที่สระอโนดาดแล้วเหาะไปลงที่ประตูทางด้านทิศเหนือ

เหล่าชนมากราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ มาแล้วพระเจ้าข้า พระราชาเสด็จ ไปพร้อมกับพระเทวี ทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ในเวลาเสร็จภัตตกิจ พระราชาทรงหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆเถระ พระเทวีหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆนวกะ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขออาราธนาท่านทั้งหลาย จงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ในที่นี้จนตลอดอายุของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้นท่านรับปฏิญญาแล้ว จึงให้ตกแต่งสถานที่สำหรับอยู่อาศัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในพระอุทยาน คือ บรรณศาลา ๕๐๐ หลัง ที่จงกรม ๕๐๐ ที่ แล้วให้ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นแล

เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

ครั้นกาลเวลาล่วงไป เมืองชายแดนของพระราชาก่อการกำเริบขึ้น พระองค์ทรงกล่าวแก่พระเทวีว่า พี่จะไประงับเหตุที่เมืองชายแดน เธออย่าละเลยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จออกไปจากพระนคร ในระหว่างที่พระองค์ยังไม่เสด็จกลับ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นอายุสังขาร.ในวันเดียวกัน

ในวันนั้น พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ทรงฌานตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานสำหรับใช้เป็นที่ยึด แล้วทรงปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือทั้งหมด ก็ปรินิพพานในลักษณะเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีทรงให้ตกแต่งที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยดอกไม้ จุดเครื่องหอม นั่งคอยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งราชบุรุษไปดูว่าเกิดเหตุใดขึ้นกับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ราชบุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ไม่พบท่านในบรรณศาลานั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึด จึงไหว้ แล้วกล่าวว่า ได้เวลาแล้วเจ้าข้า ราชบุรุษนั้นเห็นว่าท่านไม่ทรงตอบจึงคิดว่าท่านหลับ จึงเดินไปเอามือลูบที่หลังเท้า จึงรู้ว่าท่านได้เสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าทั้งสองเย็นและแข็ง จึงไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ เมื่อรู้ว่าองค์ที่ ๒ ปรินิพพานแล้วเช่นกัน ก็ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ สุดท้ายก็รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ปรินิพพานแล้ว จึงไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปรินิพพานแล้ว พระเทวีทรงกรรแสงคร่ำครวญ เสด็จออกไปที่บรรณศาลานั้นพร้อมกับชาวเมือง รับสั่งให้เล่าสาธุกีฬา (การเล่นที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเก็บธาตุสร้างพระเจดีย์ ไว้

พระราชาเสด็จกลับ

เมื่อพระราชาทรงปราบเมืองชายแดนให้สงบแล้วเสด็จกลับมา รับสั่งถามพระเทวีผู้เสด็จมาต้อนรับถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเทวีทูลว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว พระราชาทรงพระดำริ ว่า มรณะยังเกิดแก่บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ พวกเราก็จะไม่พ้นไปเช่นกัน พระองค์จึงไม่เสด็จเข้าไปในพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานเลยทีเดียว รับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์ใหญ่มาแล้วมอบราชสมบัติแก่พระโอรสนั้น แล้วทรงผนวชเป็นสมณะ ฝ่ายพระเทวีก็ทรงผนวชอยู่ในพระราชอุทยานนั้นเช่นกัน พระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้น บำเพ็ญฌาน จนถึงอายุขัยจึงได้ตายแล้วไป บังเกิดในพรหมโลก.



กำเนิดเป็นปิบผลิมาณพในสมัยพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้

ในระหว่างที่คนทั้งสองนั้นอยู่ในพรหมโลก พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ เมื่อครั้งพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ปิบผลิมาณพนี้ก็จุติมาบังเกิดในท้องภรรยาหลวงของกบิลพราหมณ์ ในหมู่บ้านของพวกพราหมณ์ชื่อมหาติตถะ ในนครมคธ

นางภัททากาปิลานี ก็มาเกิดในท้องของภรรยาหลวงของพราหมณ์ โกลิยโคตร ในสาคลนคร ในนครมคธเช่นกัน เมื่อท่านทั้งสองนั้นเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเมื่อนางภัททามีอายุได้ ๑๖ ปี และ ปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล แต่ ปิบผลิมาณพก็ปฏิเสธเสียทุกครั้งโดยกล่าวว่า จะอยู่ปฏิบัติท่านทั้งสองตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ท่านจะบวช

ครั้นบิดามารดา เคี่ยวเข็ญหนักเข้า ปิบผลิมาณพคิดว่า เราจะทำให้มารดายอมจำนน จึงเอาทองคำสีสุกปลั่งพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อเป็นรูปหญิงคนหนึ่งแล้วจึงให้รูปหล่อหญิงนั้นนุ่งผ้าแดง ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วให้เรียกมารดามาพูดว่า คุณแม่ เมื่อลูกได้หญิงงามเช่นรูปหล่อนี้จึงจะแต่งงาน ถ้าไม่ได้จักไม่แต่ง นางพราหมณีเป็นคนมีปัญญาจึงคิดว่า บุตรของเราเป็นผู้มีบุญ เมื่อทำบุญไว้ในอดีตคงจะไม่ทำคนเดียว คงมีหญิงผู้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานี้ เป็นแน่แท้ จึงให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมา แล้วให้ยกรูปทองคำ ขึ้นตั้งบนรถแล้วสั่งให้พารูปหล่อตระเวนไป ถ้าพบเห็นทาริกา งามดังรูปทองนี้ และเกิดในตระกูลที่เสมอกันกับนางพราหมณีโดยชาติ เสมอกันโดยโคตรและเสมอกันโดยโภคทรัพย์ ในที่ใด ก็จงให้รูปทองนี้แหละให้เป็นบรรณการแก่นางในที่นั้น.

เหล่าพราหมณ์เสาะหาหญิงงาม

พราหมณ์เหล่านั้นก็พารูปหล่อออกไปตระเวน และคิดว่าจะไปที่ไหนกันดี จึงได้คิดว่า แคว้นมัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งสตรี พวกเราควรจะไปมัททรัฐ จึงได้ ไปยังสาคลนครในมัททรัฐ

ในครั้งนั้น แม่นมของนางภัททากาปิลานี ให้นางภัททากาปิลานีอาบน้ำแต่งตัว แล้วให้นั่งเล่นอยู่ในห้อง ตนเองก็จะไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ในระหว่างเดินทางไปท่าน้ำนางเห็นรูปทองนั้น จึงพูดขู่ด้วยเข้าใจว่านางภัททากาปิลานีหลบออกมาเที่ยว และกล่าวว่า แน่ะแม่หัวดื้อ มาที่นี้ทำไม แล้วเงื้อฝ่ามือตีที่ข้างแก้มของรูปหุ่น พร้อมกับพูดว่า จงรีบกลับไป เมื่อมือกระทบรูปทองก็สะท้อนเหมือนตีหิน จึงตระหนักว่าเป็นหุ่นจึงพูดเลี่ยงไปว่า เราเห็นรูปทองเข้าก็เกิดความเข้าใจว่าธิดาแห่งแม่เจ้าของเรา ก็นางนี้ แม้จะให้เป็นผู้ถือผ้านุ่งของธิดาแห่งแม่เจ้าของเราก็ยังไม่เหมาะสม พวกพราหมณ์เหล่านั้นพากันห้อมล้อมนางแล้วถามว่า ธิดาแห่งเจ้านายของท่าน งามเท่านี้ไหม ? หญิงแม่นมพูดว่า นางนี่น่ะหรือ ธิดาแห่งแม่เจ้าของเรางามยิ่งกว่านางนี้ร้อยเท่า พันเท่า เมื่อเธอนั่งอยู่ในห้องที่มืด ความมืดก็จะหมดไปด้วยแสงสว่างจากร่างของเธอนั้นแหละ พวกพราหมณ์จึงถือเครื่องบูชา ยกรูปทองคำขึ้นบนรถ แล้วไปยังบ้านของพราหมณ์โกสิยโคตร

เหล่าผู้ถือจดหมายแปลงสารของปิบผลิมาณพและจดหมายของนางภัททากาปิลานี

พราหมณ์โกสิยโคตรกระทำปฏิสันถารแล้วถามเหตุของการมา ? ชนเหล่านั้นตอบตามเหตุที่ได้รับบัญชามา พราหมณ์โกสิยโคตรจึงยินดีด้วยเหตุว่า มีชาติ โคตร และทรัพย์สมบัติเสมอกัน และยินดีที่จะยกลูกสาวให้ แล้วก็รับเครื่องบรรณาการ ชนเหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้เจ้าสาวแล้ว กบิลพราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิบผลิมาณพ มาณพไม่มีความต้องการจะแต่งงาน จึงได้เขียนหนังสือถึงนางภัททากาปิลานี ว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังนางภัททาปิลานี

นางภัททากาปิลานีก็เช่นกัน เมื่อได้ฟังว่า บิดาจะยกเราให้แก่ปิบผลิมาณพ จึงได้เขียนหนังสือถึงปิบผลิมาณพว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังปิบผลิมาณพ ในระหว่างเดินทางผู้ถือหนังสือทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง จึงได้หยุดทักทายกัน เมื่อคนรับใช้ของปิบผลิมาณพถูกฝ่ายนางภัททากาปิลานีถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็ตอบว่าเป็นหนังสือของปิบผลิมาณพส่งให้นางภัททากาปิลานี และเมื่อคนรับใช้ของนางภัททากาปิลานีถูกฝ่ายปิบผลิมาณพถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็กล่าวว่า เป็นหนังสือของนางภัททากาปิลานีส่งให้ปีบผลิมาณพ จึงพากันอ่านหนังสือทั้งสองฉบับ เมื่ออ่านแล้วจึงกล่าวว่า เป็นการกระทำของเด็ก ๆ แท้ ๆ แล้วฉีกหนังสือทั้งสองทิ้งไป แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นจดหมายอันแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน และแยกย้ายกันไปส่งให้คนทั้งสองนั้น ดังนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้แต่งงานกัน

เมื่อแต่งงานกันแล้ว หนุ่มสาวทั้งสองก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ โดยทั้งสองต่างก็เอาพวงดอกไม้พวงหนึ่งวางไว้ กลางที่นอน มาณพขึ้นที่นอนทางด้านขวา นางภัททากาปิลานีขึ้นที่นอนทางด้านซ้าย แล้วกล่าวว่า ดอกไม้ในด้านของคนใดเหี่ยว พวกเขาจะรู้ได้ว่า ราคจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น คนทั้งสองนั้นนอนไม่หลับตลอดทั้งราตรี เพราะกลัวจะถูกตัวของกันและกัน จนกระทั่งเช้า อนึ่งในเวลากลางวันก็ไม่มีแม้แต่การยิ้มหัว คนทั้งสองนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องโลกามิส ไม่จัดการทรัพย์สมบัติตราบเท่าที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่

เมื่อบิดามารดากระทำกาลกิริยาไปแล้ว จึงจัดการทรัพย์สมบัติ โดยปิบผลิมาณพมีสมบัติ ๘๗ โกฎิ เพียงเฉพาะผงทองคำที่ใช้ขัดสีสรีระแล้วทิ้งไปวันหนึ่ง ๆ มีประมาณ ๑๒ ทะนาน มีเหมืองน้ำประมาณ ๖๐ แห่ง ติดเครื่องยนต์ มีเรือกสวนไร่นาที่ทำกินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ มีหมู่บ้านทาส ๑๔ บ้าน ขนาดเท่าเมืองอนุราธบุรี มีหัตถานึกคือกองช้าง ๑๔ กอง มีอัสสานึกคือกองม้า ๑๔ กอง มีรถานึกคือกองรถ ๑๔ กอง.

คิดสละสมบัติแล้วออกบวช

วันหนึ่ง ปิบผลิมาณพขึ้นม้าพร้อมด้วยบริวารไปยังที่ทำงาน ยืนอยู่ปลายนา เห็นพวกนกมีกาเป็นต้น คุ้ยเขี่ยสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้น จากรอยไถเอามากิน จึงถามว่า ท่านทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ? เหล่าบริวารตอบว่า นายท่าน มันกิน ไส้เดือน มาณพถามว่า บาปที่สัตว์เหล่านี้ทำตกอยู่แก่ใคร? เหล่าบริวารตอบว่า นายท่าน บาปเป็นของท่าน มาณพคิดว่า ถ้าบาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำตกเป็นของเราเช่นนี้ ทรัพย์ ๘๗ โกฎิ จะมีประโยชน์อันใด การงาน ๑๒ โยชน์ เหมืองน้ำติดเครื่องยนต์ ๖๐ แห่ง หมู่บ้านทาส ๑๔ แห่ง จะมีประโยชน์อันใด เราจะมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้แก่ภัททากาปิลานี แล้วออกบวช.

ส่วนนางภัททากาปิลานีพร้อมกับเหล่าพวกแม่นมนั่งห้อมล้อมยู่ นางให้หว่านเมล็ดงา ๓ หม้อ ลงในไร่ เห็นพวกกากินสัตว์ในเมล็ดงาจึงถามว่า ท่านทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ? พวกแม่นม ตอบว่า แม่เจ้า พวกมันกินสัตว์ นางถามว่า อกุศลจะเป็นของใคร ? พวกแม่นมตอบว่า เป็นของแม่เจ้า นางคิดว่า ก็ถ้าอกุศลนี้จะเป็นของเรา ชีวิตเราก็ต้องวนเวียนอยู่ในวัฎฎะตั้ง ๑,๐๐๐ ภพ เมื่อลูกเจ้าพอมาถึง เราจะมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ลูกเจ้านั้นแล้วออกบวช.

มาณพ และนางภัททากาปิลานีเมื่อกลับมาแล้วก็อาบน้ำขึ้นปราสาท รับประทานอาหารแล้ว ปิบผลิมาณพกล่าวกะนางภัททากาปิลานี ว่าแม่ภัททากาปิลานี ทรัพย์ที่เธอนำเอามาเมื่อจะมาเรือนนี้จำนวนห้าหมื่นห้าพันเล่มเกวียนนั่น กับทรัพย์ของเรา ๘๗ โกฎิ ในเรือนนี้ และสมบัติอื่น ๆ ทั้งหมด เราขอมอบแก่เธอ เราจะออกบวช นางภัททากาปิลานีจึงกล่าวว่า เราก็จะบวชเช่นกัน คนทั้งสองนั้นให้คนรับใช้นำผ้ากาสายะ และบาตรดินมาจากตลาด ต่างปลงผมให้กันและกัน แล้วสอดบาตรลงในถุงคล้องที่ไหล่ลงจากปราสาท บรรดาทาสหรือกรรมกรทั้งหลายในเรือนก็ไม่มีใครจำได้.

ครั้งนั้น ชนหมู่บ้านทาส จำคนทั้งสองนั้นซึ่งกำลังเดินออกไปทางประตูบ้านทาสได้ ชนเหล่านั้นจึงร้องไห้แล้วหมอบลงที่เท้าของคนทั้งสองแล้วกล่าวว่า นายท่าน ท่านจะทำให้พวกข้าพเจ้าไร้ที่พึ่งหรือ คนทั้งสองกล่าวว่า พวกท่านเท่านั้น จงเป็นไท แก่ตัวแล้วเลี้ยงชีวิตอยู่เถิด เมื่อชาวบ้านทาสเหล่านั้นคร่ำครวญอยู่นั่นแหละ คนทั้งสองก็เดินหลีกไป พระเถระเดินไปข้างหน้าหันกลับมาแลดู พลางคิดว่าภัททากาปิลานีนี้ เป็นหญิง เดินมาข้างหลังเรา คนอื่น ๆ จะคิดว่า เรานี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน เป็นการไม่สมควรดังนี้ และพิจารณาว่า ถ้ามีใคร ๆ คิดต่อเราในทางร้ายเช่นนี้ก็จะเป็นบาปเป็นโทษแก่คนเหล่านั้น เราควรที่จะแยกทางไปจากนางเสีย.

ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
---------------------------------------------------------------------------------

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๓)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๓)
แยกกันเดินทางที่ทางสองแพร่ง

พระเถระเดินไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง จึงได้หยุดอยู่ที่ปากทางนั้น ฝ่ายนางภัททากาปิลานีเมื่อเดินมาถึงแล้วจึงไหว้แล้วยืนอยู่ พระเถระจึงกล่าวกล่าวกับนางภัททากาปิลานีว่า ถ้ามีผู้เห็นสตรีเช่นเจ้าเดินมาข้างหลังเรา เขาจะคิดว่า เราทั้งสองนี้ถึงบวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน แล้วจะคิดต่อพวกเราในทางร้าย พวกเขาก็จะได้รับบาปรับโทษในอบาย ตรงนี้เป็นทาง ๒ แพร่งท่านจงถือเอาทางสายหนึ่ง ฉันจะไปทางอีกสายหนึ่ง นางภัททากาปิลานีดีด้วยแล้วนางจึงทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในที่ทั้ง ๔ แห่ง (คือ ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา) แล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมฐานมิตรซึ่งได้ทำไว้ตลอดกาลนานประมาณแสนกัปจะแตกในวันนี้ แล้วกล่าวว่าท่านมีชาติเบื้องขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน ฉันชื่อว่าเป็นมาตุคาม มีชาติเบื้องซ้าย ทางซ้ายสมควรแก่ฉัน แล้วเดินทางไปทางเบื้องซ้าย ในเวลาที่ท่านทั้งสองนั้นแยกทางกัน มหาปฐพีนี้ได้สะเทือนเลื่อนลั่น เหมือนจะพูดว่า เราสามารถรองรับเขาจักรวาล และเขาสิเนรุได้ แต่ไม่อาจรองรับคุณความดีทั้งสองของพวกท่านได้ ในอากาศมีเสียงเหมือนฟ้าผ่า ภูเขาจักรวาลก็โอนโน้มลง

ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งในพระคันธกุฎี ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้สดับเสียงแผ่นดินไหวจึงทรงพระรำพึงว่าแผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงทราบว่า ปิบผลิมาณพ และนางภัททากาปิลานี สละสมบัติแล้วบวชอุทิศเรา แผ่นดินไหวนี้เกิดด้วยกำลังแห่งคุณของคนทั้งสอง เราก็ควรทำการสงเคราะห์คนทั้งสองนี้ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี โดยลำพังเพียงพระองค์เดียว ทรงถือบาตรและจีวร ไม่ตรัสเรียกใคร ๆ ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ เสด็จไปต้อนรับสิ้นทาง ๓ คาวุต ประทับนั่งขัดสมาธิที่โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ก็เมื่อประทับนั่ง มิได้ประทับนั่งเหมือนพระธรรมดารูปหนึ่ง ทรงแสดงพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เปล่งพระรัศมีออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอก.ดังนั้นในขณะนั้น พระพุทธรัศมีก็ได้พุ่งกระจายออกไปรอบด้าน ทำให้เหมือนเวลาพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพัน ๆ ดวง ทำให้ชายป่าบริเวณนั้นให้มีแสงสว่างขึ้นบนท้องฟ้าระยิบระยับประหนึ่งหมู่ดาว.ธรรมดาต้นนิโครธจะมีลำต้นขาว มีใบเขียว ผลสุกแดง แต่วันนั้น ต้นนิโครธกลับมีกิ่งขาว มีสีเหมือนทอง.

พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทพระมหากัสสปะด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา

พระมหากัสสปเถระเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เช่นนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างสูงสุด คิดว่าท่านผู้นี้จะเป็นพระศาสดาของเรา เราบวชอุทิศพระศาสดาพระองค์นี้ จึงเดินเข้าไปไหว้แล้วกราบทูลปวารณาตนเป็นสาวก ซึ่งในพระอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า เป็นการเข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ โดยการกล่าวว่า “ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ๓ ครั้ง การถวายสักการะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสาวกผู้มีจิตเลื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ และได้ทำความเคารพอย่างยิ่งปานนี้ เหมือนเช่นที่พระมหากัสสปเถระกระทำต่อพระพุทธองค์นี้ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ถ้าท่านพระมหากัสสปเถระกระทำการเคารพเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่มิใช่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศีรษะของผู้นั้น “พึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น” และอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า

“หากพระมหากัสสปเถระพึงความเคารพ ด้วยจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งนี้ ต่อมหาสมุทร.มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน.หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล.จักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ.หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ.เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อนแป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน.แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา แก่พระมหากัสสปเถระด้วยโอวาท ๓ ประการ ดังนี้

เพราะเหตุนั้นแล กัสสป! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ กัสสป !

เพราะเหตุนั้นแล กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล, เราเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

เพราะเหตุนั้นแล กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

ครั้นประทานแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงหลีกไป ด้วยทรงดำริว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร พระมหากัสสปเถระ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อและบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติธรรม เพียง ๗ วันและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเช้าของวันที่ ๘

ครั้งหนึ่งพระศาสดาเสด็จเดินทางมีพระเถระเป็นปัจฉาสมณะ พระสรีระของพระศาสดาตระการตาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๗ ประการ พระมหากัสสปนั้นเดินตามเสด็จพระศาสดา เหมือนเรือพ่วงไปตามเรือใหญ่สีทอง ฉะนั้น

พระศาสดาเสด็จเดินทางไปหน่อยหนึ่งแล้วแวะลงข้างทาง แสดงอาการจะประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พระเถระรู้ว่า พระศาสดามีพระประสงค์จะประทับนั่ง จึงพับผ้าสังฆาฎิอันเป็นผ้าเก่าที่ตนห่มให้เป็น ๔ ชั้น แล้วปูลาดถวาย.

ทรงประทานจีวรเก่าของพระองค์แก่พระมหากัสสปเถระ

พระศาสดาประทับนั่งบนผ้าสังฆาฎินั้นแล้วเอาพระหัตถ์ลูบคลำเนื้อผ้าตรัสว่า กัสสป สังฆาฎิอันทำด้วยผ้าเก่าผืนนี้ของเธอนุ่มดี พระเถระรู้ว่า พระศาสดาตรัสถึงสังฆาฎิของเรานุ่ม คงจักประสงค์จะห่ม จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มสังฆาฎิเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสป เธอจะห่มอะไร ? พระเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ผ้านุ่งของพระองค์จึงจักห่ม พระศาสดาตรัสว่า กัสสป ก็เธอจักอาจทรงผ้าบังสุกุลที่ใช้จนเก่าผืนนี้อย่างนี้ได้หรือ ด้วยว่ามหาปฐพีได้ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน ในวันที่เราซักผ้าบังสุกุลผืนนี้ ธรรมดาว่าจีวรที่เก่าเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าของเราดังกล่าวนี้ สมควรแก่บุคคลผู้บำเพ็ญธุดงค์ในการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรมาแต่เดิมเช่นเธอ แล้วทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระแล้ว ทรงห่มจีวรที่พระเถระห่มแล้ว พระเถระห่มจีวรของพระศาสดา ในขณะนั้น มหาปฐพีนี้ก็ไหวขึ้นด้วยเหตุที่ว่า ไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

จีวรของพระมหาเถระนั้น อรรถกถากล่าวว่า
“จีวรนี้ที่เราห่ม ทาสีชื่อปุณณะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา.ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง ตฏะ ตฏะ เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้.”

ต่อมาได้ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า มหากัสสปเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์และสอนเรื่องธุดงค์ ในศาสนาของเราดังนี้แล.



พระมหากัสสปเถระกับการบัญญัติพระวินัยบางข้อ

ในการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์นั้น จะทรงบัญญัติขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุให้ทรงต้องบัญญัติ จะไม่ทรงบัญญัติโดยไม่มีเหตุ พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นนั้น หลายข้อก็มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับพระมหากัสสปเถระดังนี้

อุปสมบทกรรม
สวดอุปสัมปทาเปกขะระบุโคตร

ครั้งหนึ่ง มีผู้ประสงค์จะบวชในสำนักของท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัสสปจึงส่งทูตไปยังสำนักท่านพระอานนท์เพื่ออาราธนาท่านพระอานนท์ให้มาสวดอุปสัมปทาเปกขะ ซึ่งการสวดอุปสัมปทาเปกขะนี้ผู้สวดจะต้องระบุนามของพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอานนท์จึงตอบปฏิเสธไปเนื่องจากท่านไม่สามารถจะระบุนามของพระมหากัสสปได้ เพราะพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้สวดระบุโคตรแทนการระบุนามได้.

อุปสมบทคู่
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมีผู้ประสงค์จะบวชอยู่ ๒ คน ทั้งสองแก่งแย่งกันเพื่ออุปสมบทก่อน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตให้ทำการอุปสมบทภิกษุ ๒ รูปในอนุสาวนาเดียวกัน.

พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำเชี่ยวท่านเกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยว่า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.

พระพุทธานุญาตการเย็บดามผ้าด้วยด้าย
สมัยหนึ่ง ผ้าอุตราสงค์ที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล ของท่านพระมหากัสสปเป็นของหนัก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค จึงทรงอนุญาตให้ทำการเย็บดามด้วยด้าย

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖

เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่มีกำหนด (ในขณะนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติเรื่องขนาดของกุฎี) กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกภิกษุเหล่านั้นจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตู เสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ.

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทางมุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับถึงรัฐอาฬวีแล้ว พักอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปเข้าไปบิณฑบาต ในรัฐอาฬวี ประชาชนเห็นท่านพระมหากัสสปแล้วหวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามถึงเหตุดังกล่าว ภิกษุจึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระมหากัสสปทราบ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปถึงรัฐอาฬวีแล้ว ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงเข้าไปเฝ้า แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวี ถึงเหตุดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ ภิกษุชาวรัฐอาฬวีเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้ แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้ดังนี้

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการ ขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณเป็นสังฆาทิเสส.ดังนี้:-

พระเกียรติคุณของท่านพระมหากัสสปเถระ

พระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่สามของหมู่พระมหาสาวก รองจากพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย สมดังที่ท่านได้รับพุทธพยากรณ์จากพระปทุมุตตระพุทธเจ้า ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้า แต่ในทางปฏิบัติ ในสมัยพุทธกาลนั้น พระอัครสาวกทั้งสองต่างก็ได้นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ส่วนพระมหากัสสปะมีอายุยืนต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน จึงนับได้ว่าท่านเป็นประธานของเหล่าภิกษุหลังพุทธปรินิพพาน

ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ ซึ่งตามอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง ๒.โดยการมาก่อน ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูป ย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุ ทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง

๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้ เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมาก มาถึง ๕๐๐ ชาติ

๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น

๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้.

นอกจากจะได้รับการสถาปนาเป็นเอตทัคคะแล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์อีกหลายประการดังที่ท่านได้ปรารภเมื่อครั้งสุภัททะภิกษุกล่าวจาบจ้วงพระพุทธองค์เมื่อทราบข่าวการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่าและปรารถนาจะกระทำสังคายนาว่า

“ทรงยกย่องเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ๓ ครั้ง” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑)

ตัวเราอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ เธอจักห่มได้หรือไม่ ซึ่งผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้เก่าแล้วของเรา ดังนี้ ทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร และด้วยการสถาปนาไว้เสมอกับพระองค์ในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ต่างโดยอนุปุพพวิหาร ๙ และอภิญญา ๖ เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราต้องการสงัดจากกาม ทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงใด ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปะต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรม ทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงนั้น ดังนี้ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑)

ยิ่งกว่านั้นยังสรรเสริญ ด้วยความเป็นผู้มีจิตไม่ติดอยู่ในตระกูล เหมือนสั่นมือในอากาศ และด้วยปฏิปทาเปรียบด้วยพระจันทร์ ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔)

และในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พราหมณ์ว่า

“ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ผู้ใดเป็นกษัตริย์ หรือเป็น พราหมณ์สืบวงศ์ตระกูลมาเป็นลำดับ ๆ ตั้ง ๑๐๐ ชาติ ถึงพร้อมด้วยไตรเพท ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ การกราบไหว้ผู้นั้นแม้บ่อย ๆ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออก ๑๖ ครั้ง ของบุญที่ ไหว้พระกัสสปะนี้เพียงครั้งเดียวเลย”
ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
------------------------------------------------------

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๔)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๔)
การโปรดพุทธบริษัท

โปรดหญิงถวายข้าวตอก

ความพิสดารว่า ครั้งหนึ่งท่านพระมหากัสสป อยู่ที่ปิปผลิคูหา เข้าฌานแล้ว ออกในวันที่ ๗ เมื่อออกจากฌานแล้วท่านได้พิจารณาด้วยทิพยจักษุเพื่อพิจารณาบุคคลที่ควรโปรด เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่ ท่านได้เห็นว่าหญิงนี้มีศรัทธาจึงได้เดินทางไปโปรด นางกุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส จึงได้นำข้าวตอกไปถวายพระเถระแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์*และได้ทำความปรารถนา ขอเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว
ในระหว่างนางเดินทางกลับนางได้นึกถึงทานที่ตนได้ถวายไปเกิดจิตเป็นกุศลอยู่ แต่บนทางที่นางเดินทางกลับนั้น นางได้ถูกงูพิษร้ายกัด และถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเอง.
ด้วยจิตอันเป็นกุศลก่อนที่จะตาย นางจึงได้ไปเกิดในวิมานทอง ในภพดาวดึงส์ ประดับเครื่องอลังการ แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ เต็มไปด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่
นางเทพธิดานั้นต้องการจะทราบว่าตนทำกรรมเช่นไรจึงได้สมบัตินี้ เมื่อพิจารณาด้วยทิพยจักษุแล้วจึงได้รู้ว่า สมบัตินี้ได้มาเพราะผลแห่งข้าวตอกที่ถวายพระมหากัสสปเถระนางจึงคิดว่า สมบัติที่นางได้เช่นนี้เป็นเพราะได้กระทำกรรมไว้เพียงนิดหน่อย นางไม่ควรประมาท,ควรจะกระทำการปฏิบัติแก่พระพระมหาเถระนั้นเพื่อทำสมบัตินั้นให้ถาวร
นางจึงไปยังที่พักของพระมหาเถระ แล้วไปปัดกวาดบริเวณของพระเถระ แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แต่เช้าตรู่.พระเถระเห็นเช่นนั้น สำคัญว่าภิกษุหนุ่มหรือสามเณรบางรูปทำให้ท่าน.ในวันรุ่งขึ้นนางก็ได้ทำเช่นเดียวกันอีก ฝ่ายพระเถระก็เข้าใจเช่นเดิม จนกระทั่งในวันที่ ๓ พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดของนางและเห็นรัศมีของนางฉายเข้าไปทางช่องลูกดาล จึงเปิดประตูออกมา ถามว่า “นั่นใคร ?” นางเทพธิดาจึงตอบแล้วเล่าเรื่องความประสงค์ของตนให้พระเถระฟัง
พระเถระจึงห้ามมิให้นางกระทำต่อไป เพื่อมิให้.มีผู้กล่าวในอนาคตว่า มีนางเทพธิดามาทำวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ เพื่อพระมหากัสสปเถระ
นางเทพธิดาจึงอ้อนวอนในความประสงค์ของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก พระเถระเห็นว่านางเทวธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังถ้อยคำ จึงปรบมือขึ้น
ด้วยเสียงปรบมือขับไล่ของพระมหาเถระดังกล่าว นางเทพธิดาไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ จึงเหาะขึ้นในอากาศ ยืนประนมมือร้องไห้ คร่ำครวญอยู่

พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงนางเทวธิดานั้นร้องไห้ จึงทรงแผ่พระรัศมีดุจประทับนั่งตรัสอยู่ในที่หน้านางเทวธิดา ตรัสว่า

“เทวธิดา การทำความสังวร (ในสมณจริยา) เป็นหน้าที่ของกัสสปผู้บุตรของเรา, แต่การกำหนดว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญ ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ที่ต้องการบุญ, เพราะว่าการทำบุญทำให้เกิดสุขแต่อย่างเดียว ทั้งในภพนี้ ทั้งในภพหน้า” ดังนี้
ในกาลจบเทศนาของพระพุทธองค์ นางเทพธิดานั้น จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล
โปรดท้าวสักกเทวราช
นางอัปสรอยากทำบุญแต่ไม่สมหวัง
วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระได้เข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน เมื่อท่านออกจากสมาบัติแล้ว จึงดำริที่จะออกเที่ยวบิณฑบาต ตามลำดับตรอก ในกรุงราชคฤห์.เพื่อโปรดคนยากไร้ ด้วยเหตุว่าการถวายทานแด่พระภิกษุที่ออกจากสมาบัตินั้นจะได้รับผลบุญทันตาเห็น ในสมัยนั้น นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ผู้เป็นบริจาริกา ของพระอินทร์ เกิดความปรารถนาที่จะได้บุญเช่นนั้น จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ แล้วถือมายืนอยู่ในระหว่างทาง กล่าวนิมนต์ท่านพระมหากัสสปเถระ พระเถระได้ปฏิเสธโดยกล่าวว่าท่านประสงค์จะสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจ.
เหล่านางเทพธิดาจึงได้อ้อนวอนอีก พระเถระเห็นว่านางเทพธิดาดื้อดึงจึงดีดนิ้ว ไล่นางเทพธิดาเหล่านั้นใหไปเสีย นางเทพธิดาเหล่านั้นเหล่านั้น เมื่อพระเถระดีดนิ้วไล่ก็ไม่อาจอยู่ได้ จึงเหาะกลับไปยังเทวโลกตามเดิม ท้าวสักกะจึงตรัสถาม นางเทพธิดาก็เล่าเนื้อความให้แก่ท้าวสักกะฟัง
ท้าวสักกะแปลงตัวทำบุญแก่พระเถระ

ท้าวสักกะได้ฟังดังนั้นก็มีประสงค์จะถวายบิณฑบาตแด่พระเถระด้วยพระองค์เอง จึงแปลงเป็นคนแก่ ฟันหัก ผมหงอก หลังโกง เป็น ช่างหูกผู้เฒ่า และทรงให้นางสุชาดาผู้เทพธิดา แปลงร่างเป็นหญิงแก่ เช่นเดียวกัน แล้วทรงนิรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่ง แล้วท้าวสักกกะก็ประทับขึงหูกอยู่.

ฝ่ายพระเถระ เดินบ่ายหน้าเข้าเมือง ด้วยปรารถนาจะทำความสงเคราะห์พวกเข็ญใจ เห็นถนนสายนั้น นอกเมืองท่านก็ได้เห็นคนชรา ๒ คน ซึ่ง่ก็คือท้าวสักกะแปลงร่างกำลังขึงหูก นางสุชาดากำลังกรอหลอดด้าย พระเถระคิดว่า ผู้ชราสองคนนี้ แม้ในเวลาแก่เฒ่าก็ยังต้องทำงาน ในเมืองนี้เห็นจะหาผู้ที่เข็ญใจกว่าสองคนนี้คงจะไม่มี เราจักรับบิณฑบาตที่สองคนนี้ถวายแล้ว ทำความสงเคราะห์แก่คนสองคนนี้.ท่านคิดดังนั้นแล้วจึงบ่ายหน้าตรงไปยังเรือนของคนทั้งสองนั้นแล.

ท้าวสักกะ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระเดินมา จึงตรัสอุบายกับนางสุชาดาว่า “พระเถระเดินมาทางนี้ เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่านเสีย ฉันจะลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงถวายบิณฑบาต.ครั้นพระเถระได้มายืนอยู่ที่ประตูเรือนของสองตายายแล้ว สองผัวเมียนั้นก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ทำแต่การงานของตนไปเรื่อย เมื่อรอคอยอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ที่ประตูเรือนดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง เธอไปดูซิ” นางสุชาดาตอบว่า “ท่านจงไปตรวจดูเถอะ” ท้าวเธอจึงเสด็จออกจากเรือนแล้ว ทรงไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว เอาพระหัตถ์ทั้งสองยันพระชานุ แล้วถอนใจ เสด็จลุกขึ้น ย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่ง ตรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเถระรูปไหนหนอ? แล้วตรัสว่า “ตาของผม มองไม่ค่อยเห็น” แล้ว ทรงเอามือป้องหน้าแหงนดูแล้ว ตรัสว่า “โอ ตายจริง! เป็นพระมหากัสสปเถระของเรา นาน ๆ จึงมายังประตูกระท่อมของเรา มีอะไรอยู่ ในเรือนบ้างไหม?” นางสุชาดาทำเป็นกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่งแล้วตอบว่า “มีจ๊ะ” ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า โปรดทำความสงเคราะห์ แก่กระผมทั้งสองเถิด” แล้วก็ทรงรับบาตรไว้ พระเถระคิดว่า “แม้อาหารที่สองผัวเมียนั่นถวาย จะเป็นน้ำผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตามที.เราก็จะทำความสงเคราะห์แก่สองผัวเมียนั้น” ดังนี้แล้ว จึงได้ให้บาตรไป ท้าวสักกะนั้น เสด็จเข้าไปภายในเรือนแล้ว ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อ ใส่จนเต็มบาตรแล้ว มอบถวายในมือพระเถระ บิณฑบาตนั้นได้มีอาหารมากมายส่งกลิ่นหอมตลบทั่วกรุงราชคฤห์แล้ว
ท้าวสักกะตรัสบอกความจริงแก่พระเถระ
พระเถระเห็นดังนั้นก็คิดว่า “ภัตตาหารที่เฒ่าเข็ญใจนี้ถวายแก่เรา มีประมาณราวกับโภชนะของท้าวสักกะ เฒ่านี้เป็นใครกัน?” พระเถระพิจารณาด้วยญาณแล้วจึงทราบว่าเฒ่านั้นก็คือท้าวสักกะนั่นเอง ท่านจึงกล่าวว่า “พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เหมือนแย่งสมบัติจากคนเข็ญใจ จัดว่าท่านได้ทำกรรมหนักแล้ว ท่านเองก็ทราบว่าใคร ๆ ก็ตาม ที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ เขาได้ตำแหน่งเสนาบดี หรือตำแหน่งเศรษฐี”
ท้าวสักกะจึงตอบว่า ผู้ที่เข็ญใจไปกว่ากระผม ไม่มีเลย ขอรับ.
พระเถระจึงถามว่า พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก จะจัดว่าเป็นคน เข็ญใจ ได้อย่างไร?
ท้าวสักกะตอบว่า อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าว่า ก็ถูกละ ขอรับ แต่ในสวรรค์ยังมีเทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์เหล่านี้ คือ จูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร อเนกวัณณเทพ ทั้ง ๓ องค์นี้ มีเดชมากกว่ากระผม เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้น พาพวกบริจาริกาออกมานอกวิมานเพื่อเล่นนักขัตฤกษ์’ กระผมก็ต้องหนีเข้าตำหนัก เพราะสู้รัศมีของเทพบุตรทั้งสามนั้นมิได้ ใครจะเข็ญใจกว่ากระผมเล่า? ขอรับ.
พระเถระกล่าวว่า ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็เถิด ตั้งแต่นี้ต่อไป พระองค์อย่าได้ลวงถวายทานแก่อาตมภาพอย่างนี้อีก.
ท้าวสักกะถามว่า เมื่อกระผมลวงถวายทานแก่ท่านเช่นนี้ กุศลกรรมจะมีแก่กระผมหรือ ไม่มีขอรับ?
พระเถระตอบว่า มี พระองค์.
ท้าวสักกะตอบว่า เมื่อพวกกระผมปรารถนาบุญ การทำกุศลกรรมก็จัดเป็นหน้าที่ของกระผม
ท้าวเธอตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงไหว้พระเถระ พานางสุชาดา ทรงทำปทักษิณพระเถระแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทานว่า
“โอ ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในทานพระกัสสป.”


โปรดภรรยานายกาฬวฬิยะ

ครั้งหนึ่งในพระนครราชคฤห์นั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง ชื่อว่า กาฬวฬิยะ ในขณะที่ภรรยาของเขากำลังหุงข้าวยาคูกับผักดองอยู่นั้น พระมหากัสสปเถระก็ออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วพิจารณาเพื่อที่จะหาผู้ที่สมควรจะเคราะห์ พิจารณาแล้วเห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะเป็นผู้ที่สมควรจะสงเคราะห์ จึงได้ไปยืนที่ประตูบ้านเพื่อบิณฑบาต นางรับบาตรจากพระเถระมาแล้วใส่ข้าวยาคูทั้งหมดลงในบาตรนั้นแล้วถวายพระเถระ พระเถระไปยังพระวิหารแล้วน้อมถวายภัตตาหารนั้นแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงรับเอาแต่พอสำหรับพระองค์.ด้วยเดชของพระพุทธองค์ข้าวยาคูที่เหลือก็เพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป

พระมหากัสสปทูลถามวิบากของนายกาฬวฬิยะต่อพระศาสดา พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไป เขาจักได้ฉัตรเศรษฐี. นายกาฬวฬิยะได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วไปบอกภรรยา.

ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเลียบพระนครนอกเมือง ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนที่สำหรับประหารชีวิตนอกพระนคร นักโทษนั้นเห็นพระราชา จึงร้องตะโกน ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์ เถิดพระเจ้าข้า พระราชารัปว่าจะส่งมาให้

ครั้นตกเย็น ระหว่างพวกวิเสทเตรียมพระกระยาหารตอนเย็น พระราชาทรงระลึกสิ่งที่รับปากกับนักโทษนั้นขึ้นมาได้ จึงตรัสว่า พวกเจ้าจงหาคนที่อาสาจะนำอาหารนี้ไปให้นักโทษ ด้วยเหตุที่ระหว่างทางที่จะไปยังตะแลงแกงนั้นจะต้องผ่านที่อยู่ของยักษ์ ชื่อทีฆตาละ พวกราชบุรุษเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งเที่ยว ป่าวร้อง หาผู้สามารถในพระนคร ในการป่าวร้องครั้งที่ ๓ ภรรยาของนายกาฬวฬิยะจึงอาสา เนื่องจากต้องการทรัพย์นั้น และได้รับเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไป แล้วนางจึงปลอมตัวเป็นชาย ผูกสอดอาวุธ ๕ ประการ ถือถาดอาหารออกจากพระนครไป

ระหว่างทางที่ผ่านที่อยู่ของยักษ์ ชื่อทีฆตาละที่สิงสถิตย์อยู่ที่ต้นตาลนอกพระนคร ยักษ์เห็นนางเดินผ่านโคนไม้ไปจึงกล่าวว่า “หยุด หยุด เจ้าจงมาเป็นอาหารของเรา”นางจึงตอบว่า “เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูตแห่งพระราชา”ยักษ์ถามว่า “เจ้าจะไปไหน ?” นางตอบว่า “เราจะไปยังตะแลงแกงที่นักโทษรอประหารชีวิต”
ยักษ์ถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าสามารถนำข่าวของเราไปประกาศสักข่าวหนึ่งได้ไหม ? นางตอบว่า “ได้สิ”

ยักษ์กล่าวว่า “เจ้าพึงประกาศดังนี้ว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็น ภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชายแล้ว และที่โคนตาลต้นนี้ มีขุมทรัพย์อยู่ ๗ ขุม เจ้าจงเอาขุมทรัพย์นั้นไปเป็นของเจ้า

นางจึงได้ไปป่าวร้องว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์ คลอดบุตรเป็นชายแล้วดังที่รับปาก

ฝ่ายเจ้าสุมนเทพซึ่งนั่งอยู่ในยักขสมาคมได้ยินข่าวนั้น จึงกล่าวว่า มนุษย์คนหนึ่งนำข่าวอันน่ายินดีของพวกเรามาป่าวร้อง พวกเราจงไปนำเขามา

เมื่อนางได้แจ้งข่าวนั้นแก่เจ้าสุมนเทพ เจ้าสุมนเทพได้ยินดังนั้นแล้ว ก็ยินดีจึงกล่าวว่า ขุมทรัพย์ในรัศมีปริมณฑลที่ร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง เราขอมอบให้แก่เจ้า

นางจึงกลับไปกราบทูลพระราชาให้ขนทรัพย์นั้นมา

พระราชาตรัสถามว่า มีผู้อื่นในพระนครใครบ้างที่มีทรัพย์มากเท่านี้ ก็ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดในพระนครที่จะมีทรัพย์มากเท่ากับทรัพย์ที่ขุดมานั้น พระราชาจึงทรงตั้งสามีของนางให้เป็นธนเศรษฐีในพระนครนั้น
พระมหากัสสปกับเด็ก ๕๐๐ คน

วันหนึ่งพระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองแล้วไปสวนในวันมหรสพวันหนึ่ง เด็กเหล่านั้นก็เพียงแต่ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หลีกไป,ไม่ปวารณาเพื่อถวายขนมแก่ภิกษุแม้สักรูปหนึ่ง

พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม ?” ภิกษุทูลถามว่า. ขนมที่ไหน ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไปแล้วดอกหรือ ?ภิกษุ. พวกเด็กนั้น ไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอด้วยขนมก็จริง. ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร.

ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความริษยาในบุคคลใด ๆ เลย; เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสคำนี้แล้วจึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับทั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้นหนึ่ง.

ต่อมาพวกเด็กเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระเดินมาข้างหลัง ก็บังเกิดความรักและเลื่อมใสพระมหาเถระขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมจึงวางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าถวายแก่พระเถระ

พระเถระจึงกล่าวแก่เด็กเหล่านั้นว่า “นั่น พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้, พวกเธอจงถือไทยธรรมไปแบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์เถิด.

พวกเด็กจึงกลับไปพร้อมกับพระเถระ ถวายขนมพระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ แล้วได้ถวายน้ำในเวลาฉันเสร็จ.

ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า “พวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้าพระมหากัสสปเถระ ในครั้งแรกไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระอื่นทั้งหลายด้วยขนม ต่อเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว จึงถือเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้านั่นมาถวาย”

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับมหากัสสปผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่เธอโดยแท้” ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถาแสดงแก่เหล่าเด็กทั้ง ๕๐๐ นั้น
ในกาลจบเทศนา เด็กเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ดังนี้
อาจามทายิกาวิมาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันจทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีครอบครัวหนึ่งเป็นอหิวาตกโรค คนในครอบครัวนั้นตายกันหมด เหลือหญิงคนหนึ่ง หญิงนั้นทิ้งเรือนหนีไป หมดที่พึ่ง ไปเรือนของคนอื่น อาศัยอยู่ด้านหลังเรือนของเขา.พวกผู้คนในเรือนนั้นคิดสงสาร ให้ข้าวต้มข้าวสวยและข้าวตังเป็นต้น ที่เหลือในหม้อข้าวเป็นต้นแก่นาง นางเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยข้าวตังของผู้คน เหล่านั้น.

วันนั้นท่านพระมหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน เมื่อออกจากนิโรธนั้นแล้ว พิจารณาหาผู้ที่สมควรจะอนุเคราะห์ ได้เห็นหญิงนั้นถึงวาระใกล้ตาย และเห็นกรรมในอดีตของนางจะนำไปสู่นรก แต่ก็ยังเห็นโอกาสที่นางจะได้ทำบุญ ท่านได้พิจารณาว่า เมื่อเราไปยังบ้านนั้น หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนที่ตนได้มา เพราะบุญนั้นนางจะได้ไปเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี

ดังนั้นในเวลาเช้า ท่านจึงเดินมุ่งหน้าไปยังที่อยู่ของนาง แล้วจึงยืนอยู่ข้างหน้าของหญิงนั้น.

นางเห็นพระเถระแล้ว คิดว่าพระเถระนี้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็ไม่มีของกิน หรือของเคี้ยว ซึ่งควรที่จะถวายแก่พระเถระนี้ จะมีก็เพียง น้ำข้าวข้าวตังอันจืดเย็นไม่มีรส เต็มไปด้วยหญ้าและผงธุลี ซึ่งอยู่ในภาชนะสกปรกนี้ เราไม่อาจจะถวายแก่พระเถระเช่นนี้ได้ นางจึงกล่าวว่า ขอท่านจงโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด พระเถระยืนนิ่งไม่ขยับเท้าแม้แต่ข้างเดียว ผู้คนอยู่ในเรือนนำภิกขาเข้าไปถวาย พระเถระก็ไม่รับ

หญิงเข็ญใจนั้น รู้ว่าพระเถระประสงค์จะรับเฉพาะของเรา จึงมาในที่นี้ก็เพื่ออนุเคราะห์เรา เท่านั้น มีใจเลื่อมใส เกิดความเอื้อเฟื้อ ก็เกลี่ยข้าวตังนั้นลงในบาตรของพระเถระ

พระเถระแสดงอาการว่าจะฉันเพื่อเพิ่มความเลื่อมใสของนางให้มากขึ้น ผู้คนปูอาสนะแล้ว พระเถระก็นั่งบนอาสนะนั้นฉันข้าวตังนั้น ดื่มน้ำแล้วชักมืออกจากบาตร ทำอนุโมทนาแก่หญิงเข็ญใจ นั้นแล้วก็ไป.

ในคืนนั้นนางก็สิ้นชีวิต ก็ไปบังเกิดร่วมกับเหล่าเทพในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
---------------------------------------------------------------------------------

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๕)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๕)
ศิษย์เผากุฏิของพระมหากัสสปเถระ

ในกรุงราชคฤห์ มีพระ ๒ รูปเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัสสปเถระผู้อาศัยอยู่ในถ้ำปิปผลิ.ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำการปฏิบัติต่อท่านพระมหาเถระโดยเคารพ ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นคนมักตู่เอากิจที่พระอีกรูปหนึ่งกระทำเป็นเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นผู้กระทำเอง เมื่อภิกษุผู้ปฏิบัติต่อพระเถระโดยอาการอันเคารพนั้นตั้งน้ำบ้วนปากเพื่อถวายพระมหาเถระเป็นต้น ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะไปยังสำนักของพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ น้ำ กระผมตั้งไว้แล้ว ขอท่านจงล้างหน้าเถิดขอรับ เมื่อภิกษุรูปแรกนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปัดกวาดบริเวณกุฏิไว้แล้ว ในเวลาพระเถระออกมา ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ไปมา ทำทีเสมือนว่าบริเวณนั้นทั้งสิ้นตนเป็นผู้ปัดกวาดไว้ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงคิดจะทำให้กรรมของพระหัวดื้อนี้ปรากกฎต่อพระเถระ

เมื่อภิกษุขี้ตู่นั้นฉันแล้วหลับอยู่นั้น ภิกษุรูปแรกจึงต้มน้ำเพื่อถวายพระเถระสำหรับอาบแล้ว ก็ตักใส่ในหม้อใบหนึ่ง ตั้งไว้หลังซุ้ม แต่เหลือน้ำไว้ในหม้อต้มน้ำประมาณกระบวยหนึ่ง แล้วตั้งไว้ให้เดือดพลุ่งเป็นไออยู่.

กรรมตามทัน

ภิกษุนี้ตื่นขึ้น เห็นไอพลุ่งออกจากหม้อต้มน้ำ จึงคิดว่า น้ำที่ภิกษุนั้นต้มแล้วคงไว้ในซุ้ม จึงรีบไปเรียนพระเถระว่า “น้ำกระผมตั้งไว้ในซุ้มแล้วขอรับ นิมนต์ท่านสรงเถิด” แล้วเข้าไปในซุ้มพร้อมกับพระเถระ พระเถระเมื่อไม่เห็นน้ำ จึงถามว่า“น้ำอยู่ที่ไหน? คุณ” ภิกษุหนุ่มไปยังโรงต้มน้ำ จ้วงกระบวยลงในภาชนะที่มีไอน้ำพลุ่งอยู่ เมื่อกระบวยกระทบพื้นภาชนะเปล่าที่ไม่มีน้ำก็มีเสียงดังเหมือนเสียงระฆัง ตั้งแต่นั้นมาภิกษุนั้นจึงมีชื่อว่า อุฬุงกสัททกะ พระภิกษุนั้นเมื่อพบว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีน้ำ จึงโพนทะนาว่า “ขอท่านจงดูกรรมของภิกษุหัวดื้อเธอยกภาชนะเปล่าขึ้นตั้งไว้บนเตา แล้วไปไหนเสีย? กระผมเรียนด้วยเข้าใจว่าน้ำมีอยู่ในซุ้ม” แล้วก็ได้ถือหม้อน้ำไปยังท่าน้ำ.

ฝ่ายภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงนำเอาน้ำมาจากหลังซุ้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม.พระเถระเห็นดังนั้นจึงพิจารณาดูก็รู้ว่า “ภิกษุอุฬุงกสัททกะนั้น ชอบกระทำกิจที่ตนไม่ได้ทำ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้กระทำเอง” ท่านจึงได้ให้โอวาทแก่พระอุฬุงกสัททกะผู้มานั่งอุปัฏฐากในเวลาเย็นถึงความไม่ควรของความประพฤติของภิกษุนั้น

ภิกษุนั้นโกรธ แล้วในวันรุ่งขึ้นจึงไม่เข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เมื่อถูกอุปัฏฐากถามถึงพระเถระ พระอุฬุงกสัททกะจึงบอกว่าพระเถระนั่งอยู่ในวิหาร นั่นแหละ เพราะไม่ผาสุก เมื่อเขากล่าวว่า ได้อะไรจึงจะควรขอรับ จึงกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้ แล้วถือเอาสิ่งที่อุปัฏฐากถวายพระเถระนั้นไปยังที่ชอบใจของตน ฉันแล้วจึงได้ไปยังวิหาร

พระเถระจับความเลวทรามของศิษย์ได้

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น, เมื่อพวกอุปัฏฐากกล่าวว่า “ได้ยินว่า ความไม่ผาสุกเกิดแก่ท่าน’ จึงจัดแจงอาหารส่งไปตามที่ภิกษุหนุ่มแจ้ง ความผาสุกเกิดแก่ท่านแล้วหรือ?” พระเถระได้ฟังก็นิ่งเสีย, ครั้นเมื่อพระเถระไปสู่วิหารแล้ว จึงกล่าวกับภิกษุหนุ่มนั้นผู้มาอุปัฏฐากในเวลาเย็น ว่า “การกระทำของเธอเมื่อวานนี้ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย”

ประทุษร้ายแก่ผู้มีคุณตายไปเกิดในอเวจี

ภิกษุนั้นโกรธแล้วผูกอาฆาตในพระเถระในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้าน ส่วนตนพักอยู่ในวิหาร จึงจับท่อนไม้ ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะสำหรับใช้สอยเป็นต้น แล้วจุดไฟที่บรรณศาลาของพระเถระ สิ่งใดไฟไม่ไหม้ก็เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้นแล้วหนีออกไป พระอุฬุงกสัททกะนั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหมือนดังเปรต ผอมโซ ครั้นตายแล้วก็ได้บังเกิดในอเวจี

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฎในชาดกต่าง ๆ เช่น

เกิดเป็นพระสูระ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจันทราช ใน จันทกุมารชาดก

เกิดเป็นน้องชายหนึ่งใน ๖ คน พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมหากัญจนดาบส ใน ภิงสจริยาชาดก

เกิดเป็นทุกูละดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสาม ใน สุวรรณสามชาดก

เกิดเป็นบิดาของมาณพผู้เสาะหาวิชา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ ใน อสาตมันตชาดก

เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้วถึงวันที่เจ็ด ครั้งนั้นพระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุบริวาร กำลังเดินทางจากเมืองปาวา จะไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา ระหว่างได้แวะพักร้อนที่ร่มไม้ ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่นั้น ได้มีอาชีวกะผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่มเดินมา พระเถระคิดว่า ดอกมณฑารพปกติจะมีก็แต่ในแดนสวรรค์ จะมีในโลกมนุษย์ก็ต่อเมื่อผู้มีฤทธิ์บางท่านแผลงฤทธิ์ หรือเมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดาเป็นต้น แต่วันนี้ ผู้มีฤทธิ์ได ๆ ก็ไม่ได้แสดงฤทธิ์ พระศาสดาของเราก็ไม่เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา มิใช่เวลาที่ทรงประสูติ ทั้งวันนี้พระองค์ก็มิได้ตรัสรู้ ไม่ได้ประกาศพระธรรมจักร ไม่ได้แสดงยมกปาฏิหาริย์ ไม่ได้เสด็จลงจากเทวโลก ไม่ได้ทรงปลงอายุสังขาร แต่พระศาสดาของเราทรงพระชรา คงจะเสด็จปรินิพพานเสียเป็นแน่แล้ว

เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ท่านจึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่ง เข้าไปหาอาชีวกะผู้นั้น ถามว่า ท่านทราบข่าวพระบรมศาสดาของเราบ้างหรือไม่ อาชีวะจึงตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานเสียได้เจ็ดวันเช้าวันนี้ ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จปรินิพพานนั้น

บรรดาภิกษุที่เดินทางมาพร้อมกับพระมหาเถระ ภิกษุพวกที่ ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ต่างก็โศกเศร้าคร่ำครวญ ล้มลงกลิ้งเกลือก ไปมา รำพันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนภิกษุที่บรรลุอรหัตผลแล้ว มีสติ สัมปชัญญะ ปลงธรรมสังเวชถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย

ในกลุ่มภิกษุที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผลนั้น มีพระภิกษุปุถุชนรูปหนึ่งชื่อว่า สุภัททะ ซึ่งบวชเมื่อแก่และและมีใจอาฆาตพระพุทธองค์มาแต่เดิม ได้เที่ยวกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่าพวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราจะสบายแล้ว ด้วยเมื่อพระมหาสมณะยังอยู่นั้น ก็ได้คอบห้ามพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ บัดนี้ พวกเรา ปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะไม่กระทำสิ่งนั้น

พระเถระฟังคำที่พระสุภัททะได้เที่ยวพูดกับหมู่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ท่านก็เกิดธรรมสังเวช.ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพิ่งจะปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน พระบรมศพก็ยังอยู่ เสี้ยนหนามศาสนาอันใหญ่เกิดขึ้นเร็วถึงปานนี้ พระศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาด้วยทุกข์ยากนี้ถ้าปล่อยให้คนบาปเหล่านี้เติบโตและได้คนบาปอื่นมาเป็นพรรคพวก ก็อาจจะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอยได้.

ถ้าเราจะให้ขับไล่พระชั่วองค์นี้ไป ผู้คนทั้งหลายก็จะพากันตำหนิโทษเราว่า พระศาสดาปรินิพพานไปยังไม่ทันไร พระบรมศพของพระสมณโคดมยังคงอยู่ เหล่าสาวกก็เกิดวิวาทกันเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เราควรอดกลั้นไว้ก่อน พระธรรมที่ทรงแสดงแล้วนั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ทั้งหลายที่เมื่อต้องลมก็ย่อมกระจัดกระจายไป ฉันใด สิกขาบทในวินัยก็จะพินาศ ธรรมในพระสูตรก็จะพินาศ ธรรมในพระอภิธรรมก็จะพินาศ ด้วยอำนาจของบุคคลชั่วเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.เพราะฉะนั้น เราจะต้องสังคายนาธรรมวินัย เพื่อให้พระธรรมนี้ พระวินัยนี้ มั่นคงเหมือนดอกไม้ที่ผูกไว้ด้วยด้ายเหนียว

ในอดีต เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จต้อนรับเรา ตลอดทาง ๓ คาวุต (๓๐๐ เส้น) และทรงประทานอุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ประการ ทรงประทานเปลี่ยนจีวรจากพระวรกายกับจีวรเก่าของเรา ตรัสทรงยกย่องว่าเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ก็เพื่อประโยชน์ว่าเราจะทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัย เพื่อให้พระศาสนามั่นคงและแพร่หลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กัสสปะผู้นี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา จึงทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการอนุเคราะห์ที่ไม่ทรงกระทำแก่ผู้อื่นโดยทั่วไปนี้ เปรียบเหมือนพระราชาทรงอนุเคราะห์พระราชโอรส ผู้ดำรงวงศ์ตระกูลด้วยทรงมอบเกราะและพระราชอิสริยยศ มิใช่หรือ เรานั้นจะมีหนี้อื่นอะไรเล่า จึงควรจักทำความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย

การแสดงออกของพระสุภัททะ ทำให้พระมหากัสสปะได้ถือเป็นเหตุสำคัญ กระทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ดังนี้

ทางด้านคณะสงฆ์และเจ้ามัลลกษัตริย์ผู้ครองเมืองกุสินารา ได้ทำพิธีสักการะบูชาพระบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลาถึง ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงเชิญพระบรมศพเป็นขบวนไปทางทิศเหนือของเมือง ผ่านใจกลางเมือง แล้วเชิญพระศพไปมกุฏพันธนเจดีย์ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ของเมือง เพื่อถวายพระเพลิง วันที่กำหนดจะถวายพระเพลิงนั้น ตรงกับวันแรม ๘ คํ่าเดิอน ๖ ซึ่งทุกวันนี้ทางเมืองไทยเราถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เรียกว่า 'วันอัฐมีบูชา'

พระบรมศพพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในหีบทองที่เต็มไปด้วยนํ้ามันหอม ตั้งอยู่บนจิตกาธานที่ทำด้วยไม้หอมหลายชนิด ครั้นได้เวลามัลลปาโมกข์ ๔ องค์ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้จุดเพลิง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็มิอาจทำให้เพลิงติดได้ พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราจึงได้ถามพระอนุรุทธะว่า อะไรเป็นเหตุที่ทำให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ มิอาจทำให้ไฟติดได้ พระอนุรุทธเถระตอบว่าเป็นความประสงค์ของพวกเทวดาที่ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป กำลังเดินทางไกลจากเมืองปาวามาสู่ เมืองกุสินารานี้ จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคจะยังไม่สามารถติดไฟขึ้นได้ จนกว่าท่านพระมหากัสสปจะถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยมือของตน ฯ

อรรถกถากล่าวว่า เทวดาเหล่านั้น เป็นอุปัฏฐากในอดีตของพระมหาเถระนั่นเอง. เพราะมีจิตเลื่อมใสในพระมหากัสสปเถระ อุปัฏฐากเหล่านั้นก็ไปบังเกิดในสวรรค์. ในครั้งนี้เหล่าเทวดาเหล่านี้ไม่เห็นพระเถระในสมาคมผู้ร่วมกระทำพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น ก็พากันคิดว่า พระมหาเถระประจำตระกูลของพวกเราไปเสียที่ไหนหนอ ก็เห็นท่านเดินอยู่ระหว่างทาง จึงพากันอธิษฐานว่าเมื่อพระเถระประจำตระกูลของพวกเรายังไม่ได้ถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอจิตกาธารอย่าเพิ่งติดไฟ ดังนี้.

ครั้นเมื่อท่านพระมหากัสสปพร้อมหมู่ภิกษุมาถึงจึงได้เข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในเมืองกุสินารา เมื่อถึงจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาร ๓ รอบ แล้วเปิดทางพระบาท ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เหล่าภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้น ก็กระทำเช่นเดียวกัน เมื่อท่านพระมหากัสสปและภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นถวายบังคมแล้ว จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคก็มีเพลิงลุกโพลงขึ้นเอง เมื่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคถูกไฟไหม้แล้ว ท่อน้ำก็ไหลหลั่งมาจากอากาศ และจากไม้สาละดับจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ดับจิตกาธารของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วนๆ แล้วเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่สันคารศาลา คือ หอประชุมกลางเมือง รอบหอประชุมนั้นจัดทหารถืออาวุธพร้อมสรรพคอยพิทักษ์รักษา และทำสักการะบูชาด้วยฟ้อนรำ ดนตรีประโคมขับ และดอกไม้นาๆประการ และมีนักขัตฤกษ์เอิกเกริกกึกก้องฉลองถึง ๗ วันเป็นกำหนด

เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา

ท่านพระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระของภิกษุประมาณเจ็ดแสนรูปที่ประชุมกันในวันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาระลึกถึงคำของ สุภัททะ กล่าวเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วัน และดำริของท่านที่จะกระทำปฐมสังคายนาจึงได้แสดงดำรินั้นต่อสงฆ์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกภิกษุ ทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระ จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๔๙๙ รูป หย่อน ๕๐๐ รูปอยู่องค์หนึ่ง

เหตุที่พระมหากัสสปเถระจึงทำให้หย่อน ๕๐๐ อยู่รูปหนึ่ง อรรถกถากล่าวไว้ว่า เพื่อไว้ให้โอกาสแก่ท่านพระอานนท์เถระเพราะ พระมหาเถระได้พิจารณาว่า การกระทำสังคายนานั้น มีเหตุทั้งไม่ควรเลือก และ เหตุที่ควรเลือกพระอานนท์เข้าร่วมกระทำสังคายนา เหตุที่ไม่ควรเลือกก็เพราะว่าพระอานนท์นั้นเป็นพระเสขะ (ยังไม่บรรลุพระอรหันต์) ยังมีกิจที่ต้องทำอยู่ จึงไม่ควรเลือก แต่ถ้าเว้นท่านพระอานนท์เสียก็ไม่อาจทำสังคายนาธรรมได้ ด้วยธรรมทั้งหลายข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว ไม่มีธรรมข้อใดที่พระอานนท์ไม่ได้รับฟังต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า (ด้วยเหตุที่ท่านขอพรต่อพระศาสดาก่อนที่จะรับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ว่าถ้าพระพุทธองค์ไปทรงแสดงธรรมในที่ซึ่งพระอานนท์ไม่ได้อยู่ด้วย พระพุทธองค์จะต้องแสดงธรรมนั้นต่อพระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพระอานนท์เกรงข้อครหาของผู้ที่จะกล่าวว่า เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าแต่ไม่เคยได้ยินธรรมข้อนั้น ข้อนี้) ฉะนั้น จึงไม่อาจเว้นเสียได้.เพราะว่า ท่านพระอานนท์นั้นแม้เป็นเสขะอยู่ แต่ก็น่าที่พระมหากัสสปเถระจะเลือก เพราะเป็นผู้มีอุปการะมากต่อการทำสังคายนาธรรม

แต่ที่พระมหากัสสปเถระตัดสินใจไม่เลือกพระอานนท์เถระ ก็เพราะจะหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนจากบุคคลที่ไม่เข้าใจ อันที่จริงแล้ว ท่านพระเถระมีความสนิทสนมอย่างเหลือเกินกับท่านพระอานนท์.ดังเช่น ถึงท่านพระอานนท์จะมีผมบนศีรษะหงอกแล้ว.พระมหากัสสปเถระก็ยังสั่งสอนท่านพระอานนท์เถระด้วยวาทะเหมือนหนึ่งว่าท่านพระอานนท์ยังเป็นเด็กอยู่ เช่นว่า “เด็กคนนี้ ไม่รู้จักประมาณเสียเลย”. เป็นต้น

อีกประการหนึ่งท่านพระอานนท์นี้เกิดในตระกูลศากยะ เป็นพระอนุชาของพระตถาคต เป็นโอรสของพระเจ้าอา. ในการคัดเลือกท่านพระอานนท์ ภิกษุทั้งหลายจะสำคัญว่าท่านลำเอียง เลือกเพราะรัก จะพึงตำหนิติเตียนว่าพระมหากัสสปเถระละเว้นเหล่าภิกษุผู้บรรลุอรหันต์ปฏิสัมภิทาองค์อื่นไปเสีย แล้วไปเลือกพระอานนท์ ผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล. พระเถระเพื่อจะหลีกเลี่ยงคำตำหนิติเตียนนั้น จึงคิดว่า “ถ้าเว้นพระอานนท์เสีย ก็ไม่อาจทำสังคายนากันได้ แต่เราจะเลือก ก็ต่อเมื่อภิกษุทั้งหลายอนุมัติเท่านั้น” ดังนี้จึงไม่เลือกเอง.
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันร้องขอพระเถระ เพื่อให้ท่านเลือกอานนท์เสียเองเลย ดังนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระ จึงได้เลือกท่านพระอานนท์ด้วยดังนี้.
พระเถระจึงได้มีจำนวนครบ ๕๐๐ รวมทั้งท่านพระอานนท์ ที่พระเถระเลือกโดยอนุมัติของภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
เมื่อเลือกได้พระสงฆ์ครบทั้ง ๕๐๐ รูปแล้ว พระเถระทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราควรจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า พระนครราชคฤห์ มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรที่พวกเราจะอยู่ จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควร เข้าจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ ด้วยเกรงว่าเพราะจะมีวิสภาคบุคคลบางคนเข้าไปสู่ท่ามกลางสงฆ์ซึ่งกำลังทำสังคายนาอยู่ แล้วจะคัดค้านถาวรกรรมของพวกท่านนี้เสีย
ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระ พิจารณาว่า นับแต่วันที่พระตถาคตปรินิพพานมา จนถึงบัดนี้เป็นอันล่วงไปแล้วกึงเดือน บัดนี้ฤดูคิมหันต์ยังเหลืออยู่เดือนครึ่ง ดิถีที่จะเข้าจำพรรษาก็ใกล้เข้ามาแล้ว จึงชักชวนหมู่พระสงฆ์ที่จะทำสังคายนาให้เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ แล้วก็ได้พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินทางไปทางหนึ่ง ส่วนพระอนุรุทธเถระก็พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินไปอีกทางหนึ่ง. ท่านพระอานนท์เถระนั้นถือเอาบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่มีความประสงค์จะเดินทางผ่านกรุงสาวัตถีไปยังกรุงราชคฤห์ ก็หลีกจาริกไปทางกรุงสาวัตถี

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีวัดใหญ่อยู่ ๑๘ วัด ทุกวัดมีขยะและหยากเยื่อที่เขาทิ้งตกเรี่ยราดเต็มไปหมด.เพราะในช่วงเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายต่างก็ทอดทิ้งวัดและบริเวณไปกันหมด ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายคิดกันว่า เราจะช่วยกันปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุดโทรมในตลอดเดือนแรกแห่งพรรษา เพื่อบูชาพระพุทธดำรัสและปลดเปลื้องคำตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์. ด้วยว่าพวกเดียรถีย์พากันติเตียนว่า พวกสาวกของพระสมณโคดม เมื่อศาสดายังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยกันทะนุบำรุง ครั้นศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งไป.

ดังนั้นในเดือนแรกของพรรษาท่านจึงได้ทำการบูรณะพระอารามทั้ง ๑๘ แห่ง โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงถวายการช่วยเหลือในครั้งนั้น แล้วจึงได้เริ่มกระทำการปฐมสังคายนา โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปัฐากการทำสังคายนาในครั้งนั้น โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างสถานที่นั่งประชุมสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้ทำสังคายนาที่ปากถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภารบรรพต

ในวันก่อนการทำสังคายนา ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม แต่การที่เรายังเป็นเสขบุคคลอยู่นั้นจะไปเข้าร่วมประชุมนั้นไม่เหมาะสม ในคืนนั้นจึงเร่งทำความเพียรจนเกือบตลอดราตรีก็ยังไม่บรรลุธรรม ครั้นในเวลาใกล้รุ่งจึงเอนกายลงด้วยตั้งใจว่า เราเร่งทำความเพียรจนเกินไป จึงดำริที่จะนอนพักสักครู่หนึ่ง แต่ขณะที่เอนตัวลง ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ บรรลุธรรมเป็นเป็นพระอรหันต์

ในการสังคายนานั้น มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย โดย พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อบัญญัติพระวินัย และ พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม

ในการสังคายนา เหล่าพระสงฆ์มีมติให้สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน โดยเริ่มจาก สังคายนาทีฆนิกาย สังคายนามัชฌิมนิกาย สังคายนาสังยุตตนิกาย สังคายนาอังคุตตรนิกาย ไปตามลำดับ

ครั้นสังคายนาทีฆนิกายแล้ว พระธรรรมสังคาหกเถระกล่าวว่า นิกายนี้ชื่อทีฆนิกาย แล้วมอบท่านพระอานนท์ ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์ทีฆนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระ ทั้งหลายได้สังคายนามัชฌิมนิกาย แล้วมอบแก่ศิษย์ของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระว่า ท่านทั้งหลายจงบริหารคัมภีร์มัชฌิมนิกายนี้

ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์มัชฌิมนิกายนั้น พระธรรรมสังคาหกเถระ ทั้งหลายได้สังคายนาสังยุตตนิกาย แล้วมอบแก่พระมหากัสสปเถระ ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาอังคุตตรนิกาย แล้วมอบแก่พระอนุรุทธเถระให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

ในการสังคายนานั้นได้กำหนดแยกธรรมออกเป็นหมวดหมู่ เมื่อสังคายนาแล้วจึงร้อยกรองไว้ว่า นี้พระธรรม นี้พระวินัย นี้ปฐมพุทธพจน์ นี้มัชฌิมพุทธพจน์ นี้ปัจฉิมพุทธพจน์ นี้พระวินัยปิฎก นี้พระสุตตันตปิฎก นี้พระอภิธรรมปิฎก นี้ทีฆนิกาย นี้มัชฌิมนิกาย นี้สังยุตตนิกาย นี้อังคุตตรนิกาย นี้ขุททกนิกาย นี้องค์ ๙ มีสุตตะเป็นต้น นี้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.นอกจากนั้นก็ยังแยกเป็นประเภทที่ควรรวบรวมไว้แม้อื่น ๆ ซึ่งมีหลายชนิด มีอุทานสังคหะ วัคคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิบาตสังคหะ เช่นเอกนิบาต และทุกนิบาต เป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสกสังคหะเป็นอาทิ ที่ปรากฏอยู่ในพระ-ไตรปิฎก ได้ร้อยกรองอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

ในเวลาจบการร้อยกรองพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีนี้เหมือนเกิดความปราโมทย์ และให้สาธุการว่า พระมหากัสสปเถระ ทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ให้สามารถยั่งยืนต่อไปได้ตลอดกาลประมาณ ๕,๐๐๐ พระวรรษา ดังนี้ ปฐพีก็หวั่นไหวเอนเอียง สะเทือนสะท้านเป็นอเนกประการ จนถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด และอัศจรรย์ทั้งหลายเป็นอันมากก็ได้ปรากฏมีแล้ว ด้วยประการฉะนี้.


ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
---------------------------------------------------------------------------------