วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กงล้อธรรมจักร

ธรรมจักรหมายถึงวงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหมุน เพื่อเผยแผ่พระธรรมที่ทรงตัรสรู้เพื่อให้พุทธศาสนิกชน นำไปปฏิบัติให้พ้นทุกข์
ธรรมะที่ทรงแสดงในธรรมจักรกัปปวัตนสูตร คือ การเดินทางสายกลางไม่ยึดติดในตัวสุดโต่งสังขารปรุงแต่งดี-ชั่ว ,บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, อดีต-อนาคต ฯลฯ เพื่อดำเนินสู่การประจักษ์แจ้งด้วยกิจ ๓ แห่ง อริยสัจ๔ อันมี ทุกข์ ,สมุหทัย(อวิชชาและตัณหา-เหตุเกิดทุกข์), นิโรธ(นิพพานคือความดับทุกข์) และหนทางการดำเนินปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีแปดข้อ คือ มรรคอันมีองค์๘ ประการ

........วงล้อแห่งธรรม(ธรรมจักร) ทรงตรัสให้ช่วยกันเข็นกงล้อธรรมจักรห้ำหั่นหมู่มาร ซึ่งมารนั้นมิใช่มารอื่นไกลที่ใด มารที่ทรงตรัสถึง คือ มารภายในที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์๕

........“.....ดูก่อนภิกษุ บุคคลผู้ยังยึด รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มั่นอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร....
........“.....ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคล คิดสร้างภาพ (ศัพท์บาลีใช้คำว่า “มญฺญมาโน”ภาษาไทยแปรว่า “สำคัญ” ฉบับอังกฤษใช้คำว่า imagining แปลว่า “คิดสร้างภาพ” ซึ่งชัดกว่า) รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อยู่ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่คิดสร้าง จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร
........“.....ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคลเพลิดเพลินรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากมาร....
อุปาทิยสูตร มัญญมานสูตร อภินันทมานสูตร ขันธ. สํ. (๑๓๙, ๑๔๐ ,๑๔๑)
ตบ. ๑๗ : ๙๑-๙๔ ตท. ๑๗ : ๗๙-๘๒
ตอ. K.S. ๓ : ๖๔-๖๕

หัวข้อธรรมที่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพึงทำความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้น

องค์ประกอบขันธ์ ๕ ขันธ์(ภาษาบาลี) หมายถึงความเป็นกลุ่ม ก้อน กอง(ภาษาไทย) โดยลักษณะ ๕ อย่าง คือ
........รูป คือ ร่างกายที่ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
........เวทนา คือ ความรู้สึกทางกาย สุข ,ทุกข์, เฉย (ไม่ทุกข์ไม่สุข- อทุกขมสุขเวทนา)
........สัญญา คือ ความทรงจำ ความหมายรู้ในความรู้สึก การกำหนดรู้หมายได้
........สังขาร คือ ความปรุงแต่งสร้างจินตภาพทางจิตใจอาศัยความรู้สึก และความทรงจำเป็นองค์ประกอบทางความปรุงแต่งทางจิต ไหลไปสู่วจีวาจา ความวิตก วิจารณ์ ตรึกตรอง และความปรุงแต่งทางร่างกายอิริยบทอันอาศัยองค์ประกอบภายในจากดิน น้ำ ไฟ ลม ชีวิตสันตติ
........วิญญาณ คือ สภาพที่เสริมสร้างตัวผู้รู้ให้แก่จิต ทำให้เกิดเป็นนามรูป สภาพรับรู้อารมณ์ประสาทสัมผัสทั้ง๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

........องค์ประกอบที่ปรุงแต่งล้วนอาศัยเหตุและปัจจัยมาประชุมรวมกัน ณ ขณะหนึ่งๆ เป็นขันธ์สภาพธรรม(สภาวธรรม) การก่อเกิดซึ่งปฏิกิริยาจิต แปรไปสู่ความชอบ ความชัง(อภิชฌาและโทมนัส) สาเหตุ็มาจากความถือมั่นยึดมั่น(อุปาทาน) ภายในจิตใจบุคคลภายใน ซึ่งก่อให้เพลิงทุกข์ซึ่งจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับกิเลสทุกข์ที่สั่งสมมา เรียกว่า อาสวะอนุสัย

........อาสวะอนุสัย คือ กิเลสทุกข์ ที่์หมักดองก้นบึ้งภายใต้จิตในส่วนที่ลึก โดย ตกตะกอน สะสมมาจากชีวิตที่ผ่านมาจากชีวิตหนึ่งสู่อีกชีวิตหนึ่ง ซึ่งสะสมนอนเนื่องอยู่ พร้อมที่จะกระเพื่อมขึ้้นมาสู่พื้นผิวเพื่อปรุงแ่ต่งจิตก่อทุกข์ และพร้อมกันนั้นก็เก็บสะสมเพิ่มได้ทุกขณะ เมื่อใดที่มีเหตุปัจจัยมาประชุมรวมกันจากการกระทบผัสสะ เมื่อ ตาเห็นรูป ,หูได้ยินเสียง, จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายสำผัสเย็น-ร้อน,แข็ง-อ่อน ฯ และใจรับธรรมารมณ์

........อุปาทาน คือความยึดมั่นในขันธ์๕ ซึ่งก่อจากอาสวะอนุสัยภายในจิตเป็นปัจจัย จึงมักเรียกรวมกันว่า อุปาทานขันธ์ ๕












ภาพของพุทธบริษัท 4 ซึ่งได้แก่ พระภิกษุ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันเข็นกงล้อธรรมจักรห้ำหั่นหมู่มาร จึงน่าจะให้ความหมายได้ดังนี้
ธรรมจักร แยกคำออกได้เป็น ธรรม + จักร
ธรรม , ธรรมะ หมายถึง ธรรมชาติของการกระทบ
จักร หมายถึง สิ่งหรือวัตถุที่มีการเหวี่ยงหมุน หรือหมุนเป็นวง
ธรรมจักร จึงหมายถึง ธรรมชาติของการกระทบที่มีการเหวี่ยงหมุนเคลื่อนที่อยู่เสมอ ไม่ติดนิ่งอยู่กับที่หนึ่งที่ใดเพียงที่เดียว พุทธบริษัท 4 จึงควรมีสติตามทันเป็นธรรมชาติของการกระทบที่เคลื่อนที่หมุนวนอยู่เสมอจากนอก-ใน-นอก-ใน เหมือนการหมุนของจักรจึงจะสามารถต่อสู้กับหมู่มารทั้งหลาย โดยเฉพาะขันธมารที่ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ดุจเดียวกับพระพุทธรูปปางแสดงธรรมจักร (ปางแสดงปฐมเทศนา) ที่ยกพระหัตถ์ทั้งขวาและซ้ายสูงเสมอพระอุระในท่าจีบเป็นวงกลมทั้งสองข้าง เพื่อสื่อความหมายของการเคลื่อนที่ของจิตที่หมุนวนสัมพันธ์กันระหว่างกาย (นอก) กับใจ (ใน) จึงจะทำให้กิเลส อนุสัย ลดลงได้

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชาในกลดน้อย

คติธรรมคำกลอนราชาในกลดน้อย

กลดคันหนึ่งนี้หรือคือปรางค์มาศ
มีเสื่อขาดเปรียบที่นอนอันอ่อนนุ่ม
มีมุ้งห้อยย้อยยานต่างม่านคลุม
มีบาตรอุ้มเฉกเช่นเป็นโรงครัว
มีจีวรแทนเครื่องทรงอลงกต
มีศีลพรตเป็นมงกุฏที่สวมหัว
มีขันติเป็นพระขรรค์มั่นกับตัว
ความดีชั่วคือราชการงานนานา
มีปัญญาเป็นอำมาตย์อันปราดเปรื่อง
มีสติเป็นเครื่องที่ปรึกษา
อาณาเขตโดยรอบขอบเขตหนึ่งวา
คือพาราของเราเฝ้าครอบครอง
สมาธิซิเป็นทรัพย์นับแสนโกฏิ
ความสันโดษเป็นเพชรนิลสิ้นทั้งผอง
อีกช้างม้าวัวควายทั้งนายกอง
ก็คือของที่ใส่ในย่ามมา
เสียงจิ้งหรีดคือดนตรีที่ขับกล่อม
อยู่พรั่งพร้อมข้างที่พระเคหาส์
มีความว่างเป็นราชินีศรีราชา
อันว่าองค์กษัตราคือตัวเรา
คงสุขจริงสิ่งใดไหนจะเปรียบ
แม้จะเทียบกับใครไม่อายเขา
ความสุขอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเรา
คงเป็นเจ้าพาราครานี้เอย...
จากหนังสือประสบการณ์ทางวิญญาณแห่งศิษย์พุทธะ
ของหลวงปู่พุทธอิสระ วัดธรรมอิสระอ้อน้อย

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคระาห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้

ธรรมโอวาท

คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ
ด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่” ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และ ละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้ว ได่กล่าวเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดย ยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า..

การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง......

นี้แล คือ ตำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
การไม่ทำบาป...ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ
สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไป จนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือ สั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และ คอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงโอวาทธรรม ให้ปรากฏไว้ เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสระประทุม (ปัจจุบัน คือ วัดประทุมวนาราม) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน อาจค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก มีดังนี้

นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจธฺนกฺขนฺธานิ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสุคต บรมศาสดาศากยะมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ และพระ อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น

-----------------------------------

พระอรหันต์ 60รูป

เมื่อ พระพุทธเจ้า สอนเวนัยสัตว์
บรรลุธรรม ได้พระอรหันต์ 60รูป
ก็ ได้ส่งสมณะทูตทั้งหมด รวมทั้งพระองค์ บอกทางอริยะ
โลกเถียงกันว่า
อัตตามี อมตะ(สัสสตทิฎฐิ)
สองทางต่างเป็นทาสอุปทานทุกข์
ทางสายกลางคือ
"อุปทานอัตตา นั่นแหละ คือตัวทุกข์"
แต่เป็นการยาก ที่จะสอนมนุษย์ที่
"อยู่ในปกครองของ อภิจินตนาการ(อภิสังขารมาร)
และเป็นทาส อารมณ์ร่วม(กิเลสมาร)"
ให้มายอมรับ "สมองด้าน หลักการ เหตุผล ของธรรมชาติ"
ไม่ใช่"หลักการเหตุผล ที่มนุษย์สมมุติและยึดติด"
จึงให้หลักการ เป็นสติแก่สมณะเหล่านั้นดังนี้
1.ไม่ สนทนาธรรมกับ
-ผู้ยืนค้ำหัว
-ผู้ถืออาวุธ
-ผู้เจรจา เชิงปรปักษ์
-ผู้มีกิจเร่งด่วน
-ผู้เจ็บป่วย กำลังเสวยทุกข์เวทนา
-กุมาร กุมารี ที่ยังไม่เดียงสา
-กระเทย สายเทื้อ แม่หม้าย สาวไวไฟ
2.การสนทนา แลกเปลี่ยน ธรรมะซึ่งกันและกัน
"หากไม่ได้มิตร ก็พึง ไม่ควรเพิ่มศัตรู
3.พึงจรไปรูปเดียว เพื่อให้โอกาส ผู้เป็นบัวเหนือน้ำ
มีโอกาส ผัสสะ รุ่งอรุณแห่งชีวิต เบิกบานในธรรม
แม้นเราเอง ก็จะไปยัง อรุเวลา เสนานิคม
-----------------------------------

พระนามของพระอสีติ หรือ 80 พระอรหันต์ มหาสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระนามของพระอสีติ หรือ 80 พระอรหันต์ มหาสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อสีติ แปลว่า 80 พระเถระผู้ใหญ่ 80 รูปในสมัยครั้งพุทธกาลเป็นเอตทัคะบางรูป
คือไม่ใช่ทั้งหมด ท่านที่เป็นเอตทัคคะ บำเพ็ญบารมีหนึ่งแสนกัป ส่วนภิกษุที่ไม่ใช่
เอตทัคคะ อาจจะไม่ถึงก็ได้ยังไม่พบหลักฐาน

01.พระอัญญาโกณฑัญญะ
02.พระวัปปเถระ
03.พระภัททิยเถระ
04.พระมหานามเถระ
05.พระมหาอัสสชิเถระ
06.พระยสเถระ
07.พระวิมลเถระ
08.พระสุพาหุเถระ
09.พระปุณณชิเถระ
10.พระควัมปติเถระ
-------------------------------
11.พระอุรุเวลกัสสปเถระ
12.พระนทีกัสสปเถระ
13.พระคยากัสสปเถระ
14.พระสารีบุตรเถระ
15.พระโมคคัลลานเถระ
16.พระมหากัสสปเถระ
17.พระมหากัจจายนเถระ
18.พระอชิตเถระ
19.พระติสสเมตเตยยเถระ
20.พระปุณณกเถระ
-------------------------------
21.พระเมตตคูเถระ
22.พระโธตกเถระ
23.พระอุปสีวเถระ
24.พระนันทกเถระ
25.พระเหมกเถระ
26.พระโตเทยยเถระ
27.พระกัปปเถระ
28.พระชตุกัณณีเถระ
29.พระภัทราวุธเถระ
30.พระอุทยเถระ
-------------------------------
31.พระโปสาลเถระ
32.พระโมฆราชเถระ
33.พระปิงคิยเถระ
34.พระราธเถระ
35.พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
36.พระกาฬุทายีเถระ
37.พระนันทเถระ
38.พระราหุลเถระ
39.พระอุบาลีเถระ
40.พระภัททิยเถระ
-------------------------------
41.พระอนุรุทธเถระ
42.พระอานนทเถระ
43.พระภคุเถระ
44.พระกิมพิลเถระ
45.พระโสณโกฬิวิสเถระ
46.พระรัฏฐปาลเถระ
47.พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
48.พระมหาปัณถกเถระ
49.พระจูฬปัณถกเถระ
50.พระโสณกุฏิกัณณเถระ
-------------------------------
51.พระลกุณฏกภัทิยเถระ
52.พระสุภูติเถระ
53.พระกังขาเรวตเถระ
54.พระวักกลิเถระ
55.พระโกณฑธานเถระ
56.พระวังคีสเถระ
57.พระปิลินทวัจฉเถระ_
58.พระกุมารกัสสปเถระ
59.พระมหาโกฏฐิตเถระ
60.พระโสภิตเถระ
-------------------------------
61.พระนันทกเถระ
62.พระมหากัปปินเถระ
63.พระสาคตเถระ
64.พระอุปเสนเถระ
65.พระขทิรวนิยเรวัตตเถระ
66.พระสีวลีเถระ
67.พระพาหิยทารุจิริยเถระ
68.พระพากุลเถระ
69.พระทัพพมัลลบุตรเถระ
70.พระอุทายีเถระ
-------------------------------
71.พระอุปวาณเถระ
72.พระเมฆิยเถระ
73.พระนาคิตเถระ
74.พระจุนทเถระ
75.พระยโสชเถระ
76.พระสภิยเถระ
77.พระเสลเถระ
78.พระมหาปรันตปเถระ
79.พระนาลกเถระ

--------------------------------------------------------------------------------


ประวัติพระสีวลีเถระ

พระสีวลีเถระ เป็นพระมหาเถระที่มีประวัติค่อนข้างแปลกไปกว่าพระมหาเถระองค์อื่น ๆ ท่านต้องอยู่ในครรภ์พระมารดาอยู่ถึง ๗ ปี กับอีก ๗ วัน ด้วยอำนาจบุรพกรรมตามมาส่งผล และพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ แม้พระมารดาคือ พระนางสุปฺปวาสา ผู้เป็นราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ.ก็ทรงเป็นเอตทัคคะผู้กว่าพระสาวิกาทั้งหลายผู้ถวายสิ่งของอันประณีต การที่พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะดังกล่าวก็เป็นไปตามความปรารถนาของท่านมาแต่ในอดีต

ความปรารถนาในอดีต
ในกัปที่แสน แต่กัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ในครั้งนั้น ท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ยินพระพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสาวกของพระองค์ชื่อสุทัสสนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีลาภมาก ดังนั้น ทรงปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้นิมนต์ พระชินสีห์พร้อมทั้งพระสาวก ให้เสวยและฉันถึง ๗ วัน ครั้น ถวายมหาทานแล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภในอนาคตกาล.พระปทุมุตตระบรมศาสดา จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในกัปที่แสนแต่กัปนี้ไป ท่านจะบังเกิดในนาม สีวลี ได้บวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าโคตมะ ซึ่งสมภพในวงศ์ของพระโอกกากราช ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

ต่อจากนั้น ท่านก็กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวไปกำเนิดในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้ถือปฏิสนธิในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลพระนครพันธุมดี ในสมัยนั้น ท่านเป็นคนโปรดปรานของสกุลหนึ่งในพระนคร และเป็นคนที่หมั่นขยันขวนขวายในกิจการงาน

สมัยหนึ่งหลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาสู่พระนครพันธุมดี ครั้งนั้น พระเจ้าพันธุมะซึ่งเป็นพุทธบิดา ได้ทรงเตรียมอาคันตุกทาน เพื่อภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงปรารถนาจะทำมหาทานแข่งกับชาวเมือง ในวันใดที่พระราชาเป็นผู้ถวายทาน เหล่ามหาชนก็จะสังเกตดู และในวันรุ่งขึ้นก็จะเตรียมทานให้ยิ่งกว่านั้น และในวันถัดไป พระราชาก็จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันของชาวเมือง ชาวเมืองเหล่านั้นทั้งหมดได้จัดเตรียมสิ่งของไว้ทุกสิ่ง โดยตั้งใจจะไม่ให้มีสิ่งใดที่ขาดแม้สักสิ่งเดียว จึงได้ตรวจดูทานที่ตนได้เตรียมไว้ก็ไม่เห็นน้ำผึ้งสด มีเพียงน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้ว ชนเหล่านั้นจึงให้คนถือเอาทรัพย์คนละ ๑ พันกหาปนะแล้วส่งไปเฝ้ายังประตูพระนครทั้ง ๔ เพื่อขอซื้อจากผู้ที่มาจากชนบทนอกพระนคร

ในวันนั้นเอง ท่านเดินทางเข้ายังพระนครด้วยปรารถนาจะเยี่ยมนายบ้าน ในระหว่างทางท่านเห็นรวงผึ้งที่ปราศจากตัวอ่อน ขนาดเท่างอนไถ จึงไล่ตัวผึ้งให้หนีไป แล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้ง ด้วยตั้งใจว่าจะนำไปให้แก่นายบ้าน ฝ่ายผู้ที่ชาวเมืองมอบเงินไปเพื่อหาซื้อน้ำผึ้ง พบท่านถือรวงผึ้งสดเข้ามาจึงขอซื้อในราคาหนึ่งกหาปนะ

ท่านเกิดความคิดว่า ธรรมดารวงผึ้งนี้ย่อมไม่ถึงค่าน้อยกว่าหนึ่งกหาปนะมาก แต่บุรุษนี้ให้ทรัพย์กหาปณะหนึ่ง เห็นจะมีเหตุเบื้องหลังอยู่ จึงตอบปฏิเสธไป บุรุษนั้นจึงขึ้นราคาให้เป็นสองกหาปนะ ท่านก็ยังปฏิเสธอีก บุรุษนั้นก็ขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ จนถึงพันกหาปนะ

ท่านได้พิจารณาเห็นเป็นเรื่องผิดปกติมากที่ขอซื้อรวงผึ้งสดด้วยราคาถึงพันกหาปนะ จึงได้สอบถามถึงเหตุผล บุรุษผู้นั้นจึงให้เหตุผลว่า พวกชาวพระนครได้ตระเตรียมมหาทาน เพื่อถวายพระวิปัสสีสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีสมณะ ๖ ล้าน ๘ แสนเป็นบริวาร ในมหาทานนั้นยัง ไม่มีน้ำผึ้งดิบอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงขอซื้อ ในราคาเช่นนั้น.

ท่านเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ จึงขอมีส่วนร่วมในมหาทานนั้น บุรุษนั้นไปบอกเนื้อความแก่ชาวเมือง. ชาวเมืองทราบในศรัทธาของเขาจึงอนุโมทนา ท่านจึงได้เอากหาปณะที่ตนเก็บไว้เพื่อเสบียงเดินทางจากบ้านไปซื้อเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ทำให้ป่น นำเอาน้ำส้มมาจากนมส้มแล้ว คั้นรังผึ้งลงในนั้น ปรุงด้วยจุณเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ใส่ลงในบัวตระเตรียมสิ่งนั้นเรียบร้อยแล้ว ถือไปนั่งในที่ไม่ไกลพระทศพล เมื่อมหาชนเป็นอันมากนำเอาสักการะไป เขามองดูวาระที่จะถึงแก่ตนในลำดับ รู้ช่องทางแล้วจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักการะอันยากไร้นี้เป็นของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ข้าพระองค์ รับสักการะนี้เถิด พระศาสดาทรงอนุเคราะห์เขา ทรงรับสักการะนั้นด้วยบาตรศิลา อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ได้ทรงอธิษฐานให้ไทยธรรมที่ถวายเพียงพอแก่ภิกษุ ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.น้ำผึ้งนั้นก็มีเพียงพอแก่พระสาวกทั้งสิ้น

ครั้นแล้วท่านถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้กระทำภัตกิจ เสร็จแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ด้วยผลแห่งกรรมนี้ ขอข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความเป็นผู้มีลาภ ในภพที่เกิดแล้ว ๆ ดังนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกุลบุตร ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จอย่างนั้น ดังนี้แล้ว ทรงกระทำภัตตานุโมทนาแก่เขาและชาวเมืองแล้วเสด็จหลีกไป.

บุรพกรรมที่นำไปสู่อเวจีและต้องอยู่ในครรภ์พระมารดา ๗ ปี ๗ วัน
เมื่อท่านได้สิ้นอายุในสมัยนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่สิ้นกาลนาน ต่อมาในสมัยหนึ่งท่านได้จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ากาสี (อรรถกถาบางแห่งว่า พระเจ้าพรหมทัต) ผู้ครองกรุงพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้ากาสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์. ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ.

พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า จงอย่ามีการต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมด ไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปี.แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง.

ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้. พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ.

ท่านได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง

เพราะผลกรรมที่ล้อมพระนครไว้ถึง ๗ ปีในครั้งนั้น บัดนี้พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ วัน. แต่เพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง๗ วัน. ส่วนในอรรถกถาชาดกท่านกล่าวว่า เพราะผลกรรมที่ล้อมกรุงยึดไว้ถึง ๗ วัน. พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภีถึง ๗ ปีแล้วถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน. ก็พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาที่บาทมูลของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี. ฝ่ายพระนางสุปปวาสา อุ้มครรภ์อยู่ถึง๗ ปี หลงครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน เพราะที่ส่งสาสน์ไปว่า พ่อจงล้อมพระนครยึดไว้. พระมารดาและบุตรเหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เช่นนี้อันสมควรแก่กรรมของตน ด้วยประการฉะนี้.

กำเนิดในพุทธกาล
ครั้นพ้นจากนรกอเวจีแล้ว ก็เที่ยวเกิดไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ จึงได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของ พระนางสุปปวาสา ราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กษัตริย์พระนครโกลิยะ ซึ่งทรงอภิเษกกับเจ้าศากยวงศ์พระองค์หนึ่ง พระนางนั้นพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต และได้ทรงปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบันปัตติผล

ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี.นับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสา วันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ครั้งนั้น คนทั้งหลายด้วยความปรารถนาจะลองบุญนั้น จึงให้นางเอามือจับกระเช้าพืช.พืชแต่ละเมล็ด ผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้นางเอามือจับประตูยุ้ง ด้วยบุญของราชธิดาเมื่อมีคนมารับของไป ของที่พร่องไปนั้นก็กลับเต็มเหมือนเดิม เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า บุญของราชธิดา แล้วให้ของแก่ใคร ๆ จากภาชนภัตรที่เต็มบริบูรณ์ ภัตรย่อมไม่สิ้นไป จนกว่าจะยกของพ้นจากที่ตั้ง

ด้วยผลกรรมของพระนาง ที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปี.ก็ยังไม่มีพระประสูติกาล

ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนาง กับ พระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน

พระนางปรารภกับพระสวามีปรารถนาจะถวายทานก่อนที่จะตาย จึงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อไปกราบทูลเรื่องนี้ แล้วนิมนต์พระบรมศาสดา และถ้าพระบรมศาสดาตรัสคำใด ขอให้ตั้งใจจดจำคำนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกพระนาง พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมี ความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระราชธิดา พระราชธิดาตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพล ตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้นและได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารก ได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”

พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน
ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวง เพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระเจ้านั้น พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระเจ้าว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี

พระเถระได้กล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลีตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช

พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน 5 กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะโกนปอยที่ที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด

ส่วนอาจารย์บางพวก กล่าวถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระนี้ไว้ดังนี้ว่า เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ให้โอวาทโดยนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสีวลีกุมารกล่าวว่า กระผมจักรู้กิจกรรมที่กระผมสามารถจักกระทำได้ (ด้วยตนเอง) ดังนี้ แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นกุฏิหลังหนึ่งว่าง (สงบสงัด) จึงเข้าไปสู่กุฏินั้นในวันนั้นแหละ ระลึกถึงทุกข์ที่ตนเสวยแล้วในท้องมารดาตลอด ๗ ปี แล้วพิจารณาทุกข์นั้น ในอดีตและอนาคต โดยทำนองนั้นแหละอยู่ ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏว่า เป็นเสมือนไฟติดทั่วแล้ว สีวลีสามเณรหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถี เพราะญาณถึงความแก่รอบ ทำอาสวะแม้ทั้งปวงให้สิ้นไป ตามลำดับมรรค บรรลุพระอรหัตแล้ว ในขณะนั้นเอง ส่วนพระเถระก็เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้อภิญญา ๖

พระสีวลีทดลองบุญ
ในเวลาต่อมา พระบรมศาสดาได้เสด็จไปยังพระนาครสาวัตถี พระสีวลีเถระถวายอภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงมอบภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์ พระศาสดาตรัสสั่งว่า จงรับไปเถิด สีวลี.ท่านพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางบ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ เดินทางผ่านดง เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไทร ที่ท่านเห็นเป็นครั้งแรก ได้ถวายทานตลอด ๗ วัน เทวดาทั้งหลายได้ถวายทานทุก ๆ ๗ วัน ในสถานที่ทั่ว ๆ ไป ที่ท่านเห็นต่างกรรม ต่างวาระ กันดังนี้ คือ

ท่านเห็นต้นไทรเป็นครั้งแรก เห็นภูเขาชื่อว่าปัณฑวะเป็นครั้งที่ ๒ เห็นแม่น้ำอจิรวดี เป็นครั้งที่ ๓ เห็นแม่น้ำวรสาครเป็นครั้งที่ ๔ เห็นภูเขาหิมวันต์เป็นครั้งที่ ๕ ถึงป่าฉัททันต์ เป็นครั้งที่ ๖ ถึงภูเขาคันธมาทน์เป็นครั้งที่ ๗ และพบพระเรวตะ เป็นครั้งที่ ๘.

ประชาชนทั้งหลาย ได้ถวายทานในที่ทุกแห่งตลอด ๗ วันเท่านั้น.ก็ในบรรดา ๗ วัน นาคทัตตเทวราช ที่ภูเขาคันธมาทน์ ได้ถวายบิณฑบาตชนิดน้ำนม (ขีรบิณฑบาต) สลับวันกับ ถวายบิณฑบาตชนิดเนยใส (สัปปิบิณฑบาต) วันเว้นวัน ลำดับนั้นภิกษุสงฆ์จึงถามท่านเทวราช ว่า ของที่ท่านนำมาถวายนั้นเกิดขึ้นได้อย่าไร ในเมื่อ แม่โคนมที่เขารีดนมถวายแด่เทวราชนี้ก็มิได้ปรากฏ การบีบทำน้ำนมส้มก็มิได้ปรากฏ .เนาคทัตตเทวราชตอบว่า นี้เป็นอานิสงส์แห่งการถวายสลากภัตรน้ำนมในกาลแห่งพระกัสสปทศพล.

ในกาลต่อมา พระศาสดาทรง เอาเหตุแห่งการที่พระขทิรวนิยเถระจัดการต้อนรับ ให้เป็นอัตถุปบัติ (เหตุเกิดแห่งเรื่อง) ในการที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ ในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ ในเรื่องนี้ มีเหตุเกิดขึ้นอย่างนี้

เหตุเกิดแห่งเรื่องที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์
ในสมัยหนึ่ง พระขทิรวนิยเรวตเถระ ซึ่งเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ได้หนีการแต่งงานที่บิดามารดาจัดการให้ มาขอบวชในสำนักพระภิกษุ ซึ่งมีภิกษุอยู่ประมาณ ๓๐ รูป เหล่าพระภิกษุสอบถามดู ทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ที่ท่านได้เคยแจ้งไว้ก่อนว่าถ้าน้องชายมาขอบวชก็อนุญาตให้บวชได้ จึงได้ทำการบวชให้แล้วส่งข่าวมายังท่านพระสารีบุตร

ครั้งนั้น เมื่อพระสารีบุตรทราบข่าวดังนั้น จึงกราบทูลพระศาสดาเพื่อขอไปเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระเรวตะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา จึงทรงห้ามพระสารีบุตรถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก ทรงทราบว่า พระเรวตะบรรลุพระอรหัตแล้วจึงทรงอนุญาตและตรัสว่าจะทรงไปด้วยพร้อมเหล่าพระสาวกอื่น

ดังนั้น พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร ก็ได้เสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่าจะไปเยี่ยมพระเรวตะ.ครั้นเดินทางมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนทาง ๒ แพร่ง

พระอานนเถระกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตรงนี้มีหนทาง ๒แพร่ง ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์หนทางไหน เป็นหนทางตรง

พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหนทางตรงมีระยะประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เป็นหนทางที่มีอมนุษย์ ส่วนหนทางอ้อมมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย มีภิกษาดีหาง่าย.

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สีวลีได้มาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ

พระอานนท์กราบทูลว่า ใช่ พระสีวลีมาแล้วพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรงนั้นแหละ เราจักได้ทดลองบุญของพระสีวลี.

พระศาสดามีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่เส้นทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อจะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ.

จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง หมู่เทวดาได้เนรมิตพระนครในที่ทุกๆ โยชน์ ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับและที่อยู่แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

พวกเทวบุตร ได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น ไปเที่ยวถามอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน ดังนี้แล้ว จึงไปหาพระเถระ พระเถระจึงให้นำเอาสักการะและสัมมมานะเหล่านั้นไปถวายพระศาสดา พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์

ฝ่ายพระเรวตเถระทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิต พระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ๕๐๐ พระศาสดาประทับอยู่ใน สำนักของเรวตะเถระนั้นสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล แม้ประทับอยู่ ในที่นั้น ก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง แม้พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไป เสวยบุญของพระสีวลีเถระ ตลอดการประมาณเดือนหนึ่งนั่นแลอีก เสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม ลำดับ

ในกาลต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าแล้ว ทรงสถาปนาพระเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ.



เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์
ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ ดังที่ปรากฏในชาดก คือ

เกิดเป็นราชกุมารผู้ล้อมพระนครแล้วสืบราชสมบัติ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดา ใน อสาตรูปชาดก

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (๑)

ประวัติพระมหากัสสปเถระ ๑
สมัยของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

กระทำมหาทานพระปทุมุตตระพุทธเจ้ากับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์

ได้ยินว่า ในอดีตกาล ปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม พระปทุมุตตระ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้

พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ

อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า?

พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์

อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร

พระศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา.

ในวันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา.

พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร

ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อวันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า

ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน

พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก

อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้

ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ

เวเทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนาความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.

เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง ด้วยผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามหากัสสปเถระ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่าง ๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์.

เอกสาฏกพราหมณ์

นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี อุบาสกนั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.อาศัยอยู่กับนางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า

แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน

นางพราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด

แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืนเดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สามในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม (เราชนะแล้ว ๆ ๆ).

เวลานั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์

ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า ถ้าเรามิได้กระทำอะไรพระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรมศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย

พระราชา ตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ พราหมณ์จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา

ครั้นวันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์ พระทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง ๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์



เกิดในระหว่างกาลของพระโกนาคมน์พุทธเจ้า และพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า

จุติจากสวรรค์กลับมาเกิดในเรือนของกฏุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมน์ และพระกัสสปทศพลในกัปนี้ ครั้นเจริญวัยขึ้นก็แต่งงานมีเหย้าเรือน อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเที่ยวพักผ่อนไปในป่า.ก็พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำจีวรกรรม (คือการ เย็บจีวร) อยู่ที่ริมแม่น้ำ แต่ผ้าอนุวาต (ผ้าแผ่นบาง ๆ ที่ทาบไป ตามชายสบงจีวรและสังฆาฎิ) มีไม่พอจึงทรงเริ่มจะพับเก็บ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า เพราะอะไรจึงจะพับเก็บเสียเล่า เจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ผ้าอนุวาตไม่พอ เขากล่าวว่า โปรดเอาผ้าสาฏกนี้ทำเถิดเจ้าข้า เขาถวายผ้าสาฏกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมใด ๆ ขอจงอย่าได้มี ในที่ที่ข้าพเจ้าได้เกิดเถิด

ต่อมาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ยังเรือนของเขา ในตอนนั้น ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวพาดพิงถึงพี่สะใภ้ว่า ขอให้เราจงห่างไกลหญิงพาลเช่นนี้ร้อยโยชน์ ภรรยาของเขาที่กำลังยืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินเข้าจึงคิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางคนนี้ถวาย จึงจับบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเทบิณฑบาตทิ้งแล้วเอาเปือกตมมาใส่จนเต็ม น้องสาวเขาเห็นพี่สะไภ้ทำเช่นนั้นจึงกล่าวว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าจงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเช่นนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ นั้นเป็นการไม่สมควรเลย

ภรรยาของเขาครั้นได้ฟังก็เกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตรแล้วชะโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรลงในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ.

ส่วนนี้คัดลอกมาจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html
---------------------------------------------------------------------------------